บทที่ 8 มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม  >> หน้า 28


2.  ยุคแห่งการแสวงหา

                ในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 นักวิชาการหลายคนเริ่มมีทัศนคติไม่เห็นด้วยต่อการนำทฤษฎีวิวัฒนาการมาอธิบายเกี่ยวกับวัฒนธรรม  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่ามีการค้นพบอารยธรรมที่มีความเจริญรุ่งเรืองตามภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกในอดีตก่อนที่ประเทศในยุโรปจะรวมกันเป็นสังคมที่เป็นปึกแผ่นขึ้นมาเสียอีก ดังตัวอย่างเช่น ความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรมจีน อารยธรรมอินเดีย ความมั่งคั่งของอาณาจักรกรีก โรมัน และอียิปต์ ความก้าวหน้าของนครวัด นครธมในเขมรและอาณาจักรพุกามในพม่า ตลอดจนอารยธรรมของชาวอินคา ชาวมายา และชาวแอซเทคซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ เป็นต้น

                นอกจากนี้ เมื่อมีการแยกการศึกษาระหว่างลักษณะทางชีวภาพกับวัฒนธรรมสังคมออกเป็น 2 สาขาอย่างเด่นชัด   ทำให้นักวิชาการสาขาวัฒนธรรมมีความเห็นว่า ไม่น่าจะเลือกแนวคิดทฤษฎีวิวัฒนาการมาใช้ในการศึกษาวัฒนธรรม  ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงพยายามหาแนวคิดใหม่เพื่อใช้วิเคราะห์เกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรม ในช่วงระยะเวลานี้เองที่เกิดมีมุมมองหลากหลายดังเช่น (โปรดดูรายละเอียดในบทที่ 15)

                (1) กลุ่มที่มองว่า วัฒนธรรมของแต่ละสังคมมีลักษณะ และมีแบบแผนเฉพาะ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์พิเศษที่แตกต่างจากสังคมอื่น อันเป็นผลมาจากประวัติการก่อรูปแบบและการพัฒนาของวัฒนธรรมและสังคมนั้น ๆ  (Historical Particularism)  ฟรานซ์ โบแอสและอัลเฟรด โกรเบอร์ (Alfred Kroeber) เป็นผู้นำของกลุ่มนี้โดยได้สั่งสอนและฝึกหัดให้ลูกศิษย์เข้าใจถึงเหตุผลและวิธีการศึกษาที่สามารถเก็บข้อมูลลักษณะแบบแผนของวัฒนธรรมแต่ละสังคมอย่างละเอียด นักวิชาการกลุ่มนี้บางคนยังได้ศึกษาต่อไปอีกว่า สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สังคมนั้น ๆ ตั้งอยู่จะมีอิทธิพลโดยตรงต่อการกำหนดรูปแบบทางวัฒนธรรมของสังคมนั้น ดังเช่น ชาวประมงจะสร้างวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการจับปลาและเกี่ยวกับทะเล ในขณะที่ชาวเขาจะสร้างวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันบนภูเขาและวิถีชีวิตในด้านการเข้าป่าล่าสัตว์ เป็นต้น