บทที่ 8 มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม  >> หน้า 29


                (2)  กลุ่มที่มองว่า  รูปแบบวัฒนธรรมที่ปรากฏขึ้นเป็นผลมาจากการแพร่กระจายมาจากสังคมอื่น (Diffusionism)  ดังนั้น จึงพากันมุ่งศึกษาเรื่องการกระจายวัฒนธรรมจากสังคมหนึ่งไปยังสังคมอีกแห่งหนึ่ง   เช่น มีการสันนิฐานว่าการสร้างปิรมิดของชาวมายาและแอซเทคในทวีปอเมริกาใต้น่าจะเป็นผลมาจากการกระจายวัฒนธรรมไปจากชาวอียิปต์โบราณ นักวิชาการผู้นำของกลุ่มนี้ ได้แก่ อีเลียต สมิธ (G. Eliot Smith) วิลเลี่ยม เปอร์รี (William J. Perry) และริเวอร์ส (W.H.R. Rivers)                          

                (3)  กลุ่มที่มองว่าวัฒนธรรมมีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับบุคลิภาพ (Culture and ersona- lity) คนกลุ่มนี้พยายามมองว่าแบบแผนของวัฒนธรรมของคนในแต่ละสังคมนั้นเป็นผลมาจากการอบรมสั่งสอนกันมาตั้งแต่เยาว์วัย ทำให้แบบแผนของวัฒนธรรมแตกต่างกันออกไป ผู้นำการศึกษาในกลุ่มนี้   ได้แก่ มาร์กาเรท มีด (Margaret Mead) และรูธ เบนเนดิกท์ (Ruth Benedict) 

                (4)  กลุ่มที่มองวัฒนธรรมในแง่มนุษย์นิเวศวิทยาหรือนิเวศวิทยาวัฒนธรรม (Cultural Ecology) นักวิชาการกลุ่มนี้เน้นศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ทั้งที่เป็นสภาพทางภูมิศาสตร์กายภาพและการอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อันส่งผลให้เกิดการปรับตัวและสร้างวัฒนธรรมตามหลักความสมดุลกับระบบนิเวศ นักคิดที่สำคัญของกลุ่มนี้ ได้แก่ จูเลียน สจ๊วด (Julian Steward) แอนดรู ไวดา (Andrew P. Vayda) และรอย เรปพาพอร์ต (Roy A. Pappaport) เป็นต้น 

                หลังจากที่มีการศึกษาสังคมวัฒนธรรมทั่วโลกนับเป็นจำนวนหลายร้อยสังคมแล้ว ยอร์จ เมอร์ดอค (George Peter Murdock) ก็ได้นำผลวิจัยเหล่านั้นมาศึกษาเปรียบเทียบโครงการนี้เริ่มขึ้นในปี คศ. 1937 โดยสถาบันวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษยชาติแห่งมหาวิทยาลัยเยลล์  ซึ่งได้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติ  ข้อมูลทางภูมิศาสตร์  และข้อมูลทางสังคมและวัฒนธรรมจำนวน 150 แห่ง   (และเพิ่มเป็น 250 แห่งในปี คศ. 1941)   มาจัดแยกประเภท ลักษณะ และลำดับหัวเรื่อง จากการศึกษาครั้งนี้ทำให้สามารถจัดบริเวณวัฒนธรรม (cultural areas) ว่าบริเวณใดของโลกที่มีแบบแผนวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน  นอกจากนี้ ยังสามารถจัดหัวข้อของโครงสร้างทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจริงทั่วโลกอีกด้วย