บทที่ 8 มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม  >> หน้า 27


นั่นหมายความว่า วิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรมได้รวมเอาสาขาวิชาอีก 5 สาขาเป็นส่วนย่อยของวิชานี้ด้วย (ดูหนังสือเรื่องมานุษยวิทยาวัฒนธรรมที่เขียนขึ้นโดยชาวอเมริกัน จะมีการจัดแบ่งสาขาออกตามแผนภูมิที่เพิ่งแสดงนี้ ทั้ง ๆ ที่นักโบราณคดี และนักมานุษยวิทยาสังคมอาจไม่เห็นด้วยกับการจำแนกสาขาวิชาดังกล่าว)

                เมื่อมีความเห็นพ้องต้องกันในหมู่นักวิชาการกลุ่มนี้ว่าวัฒนธรรมคือพฤติกรรมทุกอย่างทุกประเภทที่คนในสังคมแสดงออกอันเป็นผลมาจากการเรียนรู้ และสามารถจำแนกออกเป็นแบบแผนแห่งพฤติกรรมแต่ละประเภท รวมทั้งถ่ายทอดวัฒนธรรมที่ว่านี้ไปยังอนุชนรุ่นหลังด้วย ดังนั้น กระบวนการค้นหาวัฒนธรรมของสังคมประเภทต่าง ๆ  เพื่อพิสูจน์ "ลำดับขั้น"  ของวัฒนธรรมจึงบังเกิดขึ้น โดยเน้นการสานต่อวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ปรากฏหลงเหลืออยู่ในท้องถิ่นห่างไกล ทุรกันดาร และสังคมโดดเดี่ยว เพื่อตรวจสอบหา "แบบแผน" ของพฤติกรรมแต่ละประเภท ดังตัวอย่างเช่น มอร์แกนทุ่มเทกำลังกายกำลังใจศึกษาวิเคราะห์วัฒนธรรมของชาวอินเดียนแดงเผ่าอิรอข่อยโดยเน้นพิจารณาในแง่การทำมาหาเลี้ยงชีพ โครงสร้างทางการเมือง  ภาษา ครอบครัว ความเชื่อและศาสนา ลีลาชีวิตที่อยู่ในครัวเรือน ศิลปะและสถาปัตยกรรม และการถือครองทรัพย์สิน ส่วนไทเลอร์สนใจศึกษาเรื่องบ่อเกิดของศาสนา ความเชื่อในภูตผี และความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่มีตัวตน ในขณะที่เฟรเซอร์เน้นศึกษาเรื่องไสยศาสตร์ เป็นต้น ผลการศึกษาที่ได้รับก็นำมาใช้เป็นตัวอย่างเพื่อสนับสนุนทฤษฎีวิวัฒนาการ โดยชี้ให้เห็นว่า "คนเถื่อน" มีแบบแผนของวัฒนธรรมแตกต่างจาก "คนดั้งเดิม" และ "คนมีอารยธรรม" อย่างไร  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นความพยายามที่จะแสดงให้เห็นถึงลำดับขั้นของวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมจากขั้นต้น เป็นขั้นกลาง และเป็นขั้นสูงไปในที่สุด