บทที่8  มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม  >> หน้า 23


                ประการที่สี่  มีนักมานุษยวิทยาบางคนให้ความสนใจการวิเคราะห์สังคมตามแนวทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ ผู้ซึ่งมองสังคมในแง่ของความขัดแย้งโดยใช้วัตถุเป็นตัวแปรหลัก เช่น ทรัพย์สิน รายได้ อาชีพ และใช้ปัจจัยการผลิตมาเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดชนชั้นและความขัดแย้งในสังคม

                มิติใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นนี้เอง ทำให้สมาคมนักมานุษยวิทยาแห่งเครือจักรภพจัดการสัมมนาทางวิชาการภายใต้หัวข้อว่า "ทิศทางใหม่ของวิชามานุษยวิทยาสังคม ครั้งที่สอง" ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ในระหว่างวันที่ 4 - 11 กรกฎาคม คศ. 1973  การสัมมนาครั้งนี้ได้จำแนกแนวการศึกษาออกเป็นกลุ่ม ๆ และได้จัดพิมพ์หนังสือชุด (A.S.A. Studies) ขึ้นหลายเล่ม เช่น มานุษยวิทยาชีวสังคม  (Biosocial Anthropology)  การวิเคราะห์ตามแนวทฤษฎีมาร์กซ์กับมานุษยวิทยาสังคม(17)  การแปลความหมายทางสัญลักษณ์  (The Interpretation of Symbolism) บันทึกและเนื้อหา (Text and Content)  การปะทะสังสรรค์กับความหมาย  (Transaction and Meaning) เทคนิคทางคณิตศาสตร์ (Numerical Techniques) และทฤษฎีโครงสร้าง (Structuralism) 

                กล่าวโดยสรุป  ในประเทศอังกฤษและประเทศในเครือจักรภพ  นักวิชาการสาขานี้จะเรียกตัวเองว่า นักมานุษยวิทยาสังคม โดยได้ยึด "ความสัมพันธ์ทางสังคม" เป็นตัวแปรหลักในการศึกษา  ซึ่งกลุ่มของความสัมพันธ์นี้เองที่จะเรียกรวมกันว่าเป็นสถาบันทางสังคม  และจะกลายเป็นโครงสร้างสังคมที่พวกเขาใช้เป็นหน่วยในการวิเคราะห์  

มานุษยวิทยาวัฒนธรรม

                ชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะเรียกวิชานี้ว่า มานุษยวิทยาวัฒนธรรม โดยให้ความสนใจศึกษาวัฒนธรรมของคนที่อาศัยอยู่ในสังคมที่ตั้งอยู่นอกกระแสวัฒนธรรมของชาวยุโรปและชาวอเมริกัน (คนผิวขาว) วัฒนธรรมที่กล่าวถึงนี้มีขอบเขตการใช้ที่กว้างขวางมาก  ทั้งนี้เพราะมีการยึดถือความหมายที่ว่า "วัฒนธรรมคือกิจกรรมทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้น"  นั่นคือ ทั้งเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นในอดีตและในปัจจุบัน   ส่วนวิธีการศึกษาที่ใช้ก็คือ "มองวัฒนธรรมทุกอย่างทั้งหมดเป็นภาพรวม" (Holistic Approach) และต้องเข้าไปเก็บข้อมูลด้วยการสังเกตแบบมีส่วนร่วม (participant observation) ซึ่งต้องอยู่ร่วมกับคนในสังคมที่ต้องการศึกษาช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้ได้รับข้อมูลจริง