บทที่ 8 มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม  >> หน้า 13


 
               ในการใช้สายใยหรือตาข่ายแห่งความสัมพันธ์เป็นหน่วยการวิเคราะห์นั้น จะศึกษาถึงคุณลักษณะสำคัญของสายใยเหล่านั้นดังต่อไปนี้

                ก.    คุณลักษณะในแง่รูปลักษณ์ของสายใย (morphological characteristics) ได้แก่

                        (1)  การเกาะเกี่ยวของเส้นความสัมพันธ์ (anchorage) เช่น ผู้แสดงสร้างความสัมพันธ์กับนายแก้ว กับนางสาวลัดดา กับนายปฐม ฯลฯ  ดังนั้น ผู้ศึกษาจะต้องตรวจสอบดูว่าผู้แสดงไปสร้างความสัมพันธ์กับใครบ้างในแต่ละสถานการณ์

                        (2)  เส้นความสัมพันธ์ที่ส่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง (reachability) หมายถึงระดับการเข้าถึงบุคคลคนนั้นโดยตรง  หรือต้องผ่านบุคคลอื่นกี่คนก่อนที่จะถึงตัวผู้นั้น

                       (3)  ความเข้มของความสัมพันธ์ (density)  หมายถึงความเข้มของการติดต่อ หากมีการติดต่อแบบเข้มและให้บรรลุหลาย ๆ เป้าหมายต่อกัน ก็จะมีความใกล้ชิดมากจนกลายเป็นคนสนิท (close-knit) หากติดต่อกันแบบผิวเผิน ความสัมพันธ์ก็จะจางหรือไม่ใกล้ชิดกัน (loose-knit)  

                      (4)  ขอบเขต (range)  หมายถึงปริมาณของเส้นความสัมพันธ์  โดยบางคนก็สร้างความสัมพันธ์กับคนมากมาย ส่วนบางคนก็มีการติดต่อกับคนไม่มากนัก โดยอาจจำแนกขอบเขตของการติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นเป็นสามระดับ เช่น  มาก  ปานกลาง  และน้อย

                ข.    คุณลักษณะในแง่การปฏิสัมพันธ์ต่อกันทางสังคม (interactional criteria)

                        (5) เนื้อหาหรือเป้าหมายของการติดต่อสัมพันธ์  (content) เช่น ติดต่อเพราะเป็นญาติ เพราะกิจกรรมทางการเมือง เพราะงานอาชีพ ฯลฯ

                       (6)  ความสัมพันธ์ตรงทางเดียว (directedness) การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างผู้แสดงกับบุคคลอื่นนั้นเป็นไปในทางเดียว โดยผู้นั้นไม่ต้องสร้างความสัมพันธ์กลับ มิใช่เป็นความสัมพันธ์สองทาง (reciprocity) หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นคุณลักษณะที่ผู้แสดงสร้างความสัมพันธ์กับอีกคนหนึ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตนเท่านั้น  ตัวอย่างเช่น นายจ้าง - ลูกจ้างในโรงงานขนาดใหญ่มักเป็นความสัมพันธ์ทางเดียวและแง่เดียวเฉพาะอาชีพเท่านั้น