บทที่ 8 มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม  >> หน้า 10

   
                นักมานุษยวิทยาสังคมในยุคนี้ให้ความสนใจในการศึกษาสังคมดั้งเดิมที่ตั้งอยู่นอกทวีปยุโรปอย่างจริงจัง โดยออกไปศึกษาวิจัยด้วยการไปอาศัยอยู่ร่วมกับคนในสังคมที่ต้องการศึกษา หรือที่เรียกว่า "งานสนาม" (field - work) และได้เขียนงานการค้นพบไว้มากมาย ทำให้ความรู้สาขาวิชานี้มีเพิ่มพูนอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นยุคทองของวิชามานุษยวิทยาสังคมทีเดียว

                ในด้านการบริหารงานของวิชานี้ในระดับมหาวิทยาลัยนั้น มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดได้เปิดสอนวิชาชาติพันธุ์วิทยา (Ethnology)   ตั้งแต่ปี คศ.1884  ต่อมา มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เปิดสอนในปี คศ. 1900  และมหาวิทยาลัยลอนดอนเปิดสอนในปี คศ. 1908  แต่ที่มีการเรียกชื่อว่า "สาขามานุษยวิทยาสังคม" เป็นครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นเมื่อมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลตั้งตำแหน่ง ศาสตราจารย์กิตติคุณให้แก่เจมส์ เฟรเซอร์ (James Frazer) เมื่อมี คศ. 19087  จากนั้น ชื่อใหม่นี้ได้รับการยอมและเปลี่ยนจากสาขาชาติพันธุ์วิทยามาเป็นมานุษยวิทยาสังคมกันหมดทั่วสหราชอาณาจักร

                ในตอนต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 20  ลูกศิษย์ของมาลินอฟสกี้  และเรดคลิฟ-บราวน์ต่างสำเร็จการศึกษาและได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยทั่วอังกฤษและประเทศต่าง ๆ ในเครือจักรภพ  บุคคลเหล่านี้ ได้แก่ E.E. Evans - Pritchard, Edmund Leach, Lucy Mair, Max Gluckman, Mayer Fortes และ Raymond Firth และได้สร้างผลงานที่มีคุณค่ามากมายและมีชื่อเสียงก้องโลก  ปัจจุบัน (พ.ศ. 2535) ศาสตราจารย์เหล่านี้ต่างเกษียณอายุไปหลายปีแล้ว

 

3.  ยุคแห่งการแสวงหาทางเลือกใหม่

                การศึกษาความสัมพันธ์ของคนตามแนวทฤษฎีโครงสร้าง - หน้าที่ซึ่งสร้างขึ้นโดยมาลินอฟสกี้และเรดคลิฟ-บราวน์ดังกล่าวแล้วข้างต้นเริ่มเกิดมีปัญหาขึ้นเมื่อมีผู้ต้องการนำไปใช้ศึกษาสังคมขนาดใหญ่และสังคมเมืองที่เกิดขึ้นทั่วไปในทวีปแอฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกาในช่วงตอนกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 20  ทั้งนี้เพราะทฤษฎีดังกล่าวมีข้อจำกัดที่ไม่อาจใช้ในการอธิบายสถานการณ์ของสังคมที่แตกต่างไปจากสังคมขนาดเล็กหรือสังคมดั้งเดิม