บทที่ 8 มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม  >> หน้า 8

   
               
เมื่อมีการใช้สังคมเป็นหน่วยการศึกษา ทำให้ต้องมองสังคมทั้งสังคมเสมือนหนึ่งการมองรูปร่างของมนุษย์ทั้งตัว จึงอาจกล่าวได้ว่า นักมานุษยวิทยาในยุคนี้จะไม่แยกศึกษาสังคมออกเป็นส่วนย่อย แต่จะศึกษาสังคมทั้งสังคม หรือที่เรียกว่า "วิธีการมองทั้งตัว" (Holistic Approach) ดูตัวอย่างของการศึกษาของนักวิชาการในยุคนี้ในเรื่อง  ยุคย้อนประวัติศาสตร์  ในหัวข้อเกี่ยวกับมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ในตอนถัดไป

2.  ยุคแห่งการวางรากฐานแห่งวิชา

                เมื่อเรดคลิฟ-บราวน์และมาลินอฟสกี้พยายามก่อตั้งองค์แห่งความรู้ในสาขามานุษยวิทยาสังคมขึ้น เรดคลิฟ-บราวน์ได้โต้แย้งว่า การที่จะมองสังคมว่าเป็น "สิ่งของ" ดังเช่นนักวิชาการรุ่นก่อนนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก เขาจึงเสนอแนวทางการมองสังคมใหม่ว่า คำว่าสังคมก็คือความสัมพันธ์ (social relations) ที่สมาชิกสร้างขึ้นต่อกัน ความสัมพันธ์นี้เองที่ทำให้คนในสังคมมีความเกี่ยวข้องผูกพันจนกลายเป็นสังคมขึ้นมา  นั่นหมายความว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นหัวใจหลักที่นักมานุษยวิทยาสังคมให้ความสนใจในการศึกษา    ทั้งนี้  เพราะรูปลักษณ์ของสังคมจะเป็นเช่นไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับแบบแผนของความสัมพันธ์ที่สมาชิกของสังคมแสดงออกต่อกันและกัน โดยเราจะสังเกตได้จากการแสดงพฤติกรรม (behavior) ของสมาชิกของสังคมนั่นเอง

                การแสดงออกหรือการสร้างความสัมพันธ์ต่อกันนั้น สมาชิกของสังคมจะแสดงบทบาท (role) ตามสถานภาพ (status) ที่เขาดำรงอยู่ในสังคม เช่น คนมีสถานภาพเป็นลูกชายจะสร้างความสัมพันธ์กับพ่อแม่แตกต่างไปจากลูกสาว คนโดยสารรถเมล์จะต้องจ่ายค่าโดยสารและเดินขยับไปยืนข้างในรถเมื่อมีคนโดยสารหลายคนขึ้นในป้ายถัดไป   ครูจะแสดงบทบาทในการเป็นผู้ให้ความรู้ ในขณะที่นักร้องจะมีบทบาทในการร้องเพลงเพื่อให้ผู้ฟังมีความสุขหรรษา ฯลฯ  ดังนั้น บุคคลคนหนึ่งจะมีสถานภาพหลายสถานภาพ เช่น อยู่ที่บ้านก็จะเป็นลูก ไปโรงเรียนก็จะเป็นนักศึกษาไปซื้อของก็จะเป็นผู้ซื้อ เป็นต้น  และการดำรงตำแหน่งในสังคมตามสถานภาพนั้น จะต้องแสดงบทบาทตามที่สังคมคาดหวังว่าจะต้องแสดงพฤติกรรมอย่างไร และ/หรือละเว้นการแสดงพฤติกรรมแบบใดแบบหนึ่งที่สังคมเห็นว่าไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม