บทที่ 8 มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม  >> หน้า 7

   
มานุษยวิทยาสังคมศึกษาอะไร

                สิ่งที่นักมานุษยวิทยาสังคมสนใจศึกษาก็คือ สังคมมนุษย์ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวของสังคมทั้งสังคมอย่างละเอียด ในที่นี้จะขอกล่าวถึงลำดับขั้นของการศึกษาของนักมานุษยวิทยาสังคม ดังนี้

1.  ยุคต้น

                ในยุคนี้ถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของการศึกษาสาขามานุษยวิทยาที่ทำการศึกษาสังคม โดยมีการนำเอาแนวความคิดของออกัส ค้องท์    และเฮอร์เบอร์ท สเปนเซอร์    รวมทั้งของอิมิล เดอร์ไคลม์มาใช้เป็นหลักในการศึกษา  แนวความคิดที่คนกลุ่มแรกยึดถือ  ได้แก่ การมองว่าสังคมเป็นเสมือนร่างกายของมนุษย์   หรือเป็น "สิ่งของ" (thing)   ชนิดหนึ่งที่สามารถจับต้องและทำการศึกษาเป็นสังคม ๆ ได้ เช่น สังคมไทย สังคมญี่ปุ่น สังคมภูไท สังคมกะเหรี่ยง เป็นต้น แนวความคิดดังนี้ได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากชาลส์ ดาร์วินที่ยึดตัวมนุษย์เป็นหน่วยการศึกษา ดังนั้น เมื่อนักมานุษยวิทยาต้องการศึกษาสังคม  ก็จะถือว่าสังคมเป็นหน่วย   (unit of analysis) ที่สามารถทำการศึกษาวิเคราะห์ได้ และวิธีการหลักของการศึกษาก็คือการมองรูปลักษณ์ทั้งตัวของสังคมก่อน จากนั้นค่อย ๆ พิจารณาองค์ประกอบแต่ละส่วนที่รวมกันขึ้นเป็นสังคม เฉกเช่นร่างกายของคนเราที่รูปร่างทั้งตัวจะประกอบไปด้วยแขน ขา  หู  ตา จมูก  ลำตัว  นิ้ว ฯลฯ ซึ่งอวัยวะทุกส่วนนี้จะสัมพันธ์กันและกัน รวมกันขึ้นเป็นตัวคนทั้งตัว

            อนึ่ง อิทธิพลของชาลส์ ดาร์วินมีผลต่อการมองสังคมว่า สังคมจะมีการวิวัฒนาการจากจุดเริ่มต้น ซึ่งมีรูปลักษณ์แบบง่าย ๆ และจะกลายเป็นรูปลักษณ์ที่สลับซับซ้อนขึ้นไปเรื่อย ๆ เช่น จากสังคมแบบคนเถื่อน (savagery)  เป็นสังคมโบราณ (barbarian) และจะกลายเป็นสังคมที่มีอารยธรรมสูง  (civilization) หรือจะเห็นได้จากแนวคิดของเดอร์ไคลม์ที่จำแนกประเภทของสังคมระหว่างสังคมดั้งเดิมก่อนอุตสาหกรรม   (mechanical solidarity)   และสังคมอุตสาหกรรมหรือสังคมสมัยใหม่  (organic solidarity)