บทที่7  ความแตกต่างระหว่างมนุษย์ปัจจุบัน  >> หน้า 9


                ประเด็นที่นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจมาก    ก็คือ  การดำรงชีวิตของคนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบสูงเหนือระดับน้ำทะเลมาก ๆ  จากการศึกษาพบว่า อวัยวะทางร่างกายมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาวะที่มีปริมาณอากาศอ๊อกซีเจนน้อย เช่น ขนาดของปอดและหัวใจใหญ่ กว่าคนปกติที่อาศัยอยู่บนพื้นราบ  จำนวนเม็ดโลหิดแดงมีมากขึ้น ฯลฯ  ตัวอย่างของกลุ่มคนเหล่านี้ ได้แก่ ชาวเนปาลและธิเบตจำนวนกว่า 10 ล้านคนที่อาศัยบนที่ราบสูงเชิงเขาหิมาลัยที่มีความสูงเฉลี่ย 12,000 ฟุต  และคนอินเดียนแดงจำนวนกว่า 25 ล้านคนที่อาศัยบนที่ราบสูงแอนดิสในทวีปอเมริกาใต้ซึ่งมีความสูงราว 17,500 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล  บริเวณที่อยู่อาศัยที่มีความสูงขนาดนี้จะมีผลต่อภาวะการเจริญพันธุ์หากคนจากพื้นราบขึ้นไปอาศัยอยู่  
 

กลุ่มเลือดของมนุษย์  (Human blood) 

                มนุษย์ในโลกมีกลุ่มเลือดแตกต่างกัน นักวิทยาศาสตร์จัดจำแนกกลุ่มเลือดของมนุษย์ออกเป็นหลายกลุ่มตามโครงสร้างในเม็ดเลือดและตามประเภทของสารที่เป็นองค์ประกอบในเม็ดเลือด  แต่การจำแนกมีอยู่หลายระบบ   เช่น  ABO system,   P system,   Lutheran system  และ Kell system เป็นต้น

                ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการจัดแบ่งตาม  ABO system เพราะเป็นระบบที่มีการยอมรับกันอย่างแพร่หลาย รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย ระบบเอบีโอได้รับการค้นพบเมื่อปี คศ.1900 โดยคาร์ล แลนด์สไตเนอร์ (Karl Landsteiner)  และได้แสดงลักษณะไว้ในตารางที่ 7.1

                จะเห็นได้ว่า O  เป็นอัลลีลที่มีคุณลักษณะด้อย (recessive trait)  จะปรากฏเป็นเลือดกลุ่ม O  ก็ต่อเมื่อมีอัลลีลในยีน (genotype) เป็น OO เท่านั้น  หากผสมกับอักลีล A หรือ B ทำให้เป็น AO หรือ BO คน ๆ นั้นก็จะมีกลุ่มเลือด (phenotype) เป็น A หรือ B ทั้งนี้เพราะ A และ B เป็นอัลลีลที่มีคุณลักษณะเด่น (dominant trait)