บทที่6  สกุลโฮโม  >> หน้า 2


1. ทวีปเอเชีย : มนุษย์ชวา มนุษย์ปักกิ่ง

               ก. มนุษย์ชวา ในกรณีการค้นพบซากกระดูกในชวานั้น ผู้ค้นพบคือยูยีน ดูบัว (Eugene Dubois) ชาวฮอลันดา บุคคลผู้นี้มีประวัติน่าสนใจยิ่ง กล่าวคือ เขาเกิดในปี คศ. 1858 หรือหนึ่งปีก่อนที่หนังสือที่มีชื่อเสียงของชาลส์ ดาร์วินจะพิมพ์ออกเผยแพร่ เมื่อโตขึ้น เขาเข้าศึกษาวิชาแพทย์ศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ซึ่งในช่วงเวลาที่เขาเป็นนักศึกษาอยู่นั้น นักวิชาการทั้งหลายต่างให้ความสนใจถกเถียงปัญหาเกี่ยวกับการวิวัฒนาการของมนุษย์กันทั่วไป รวมทั้ง ต่างระดมกำลัง ทรัพยากร และความรู้ออกไปค้นหาหลักฐานของการกำเนิดและการวิวัฒนาการของมนุษย์กันอย่างขนานใหญ่ เหตุการณ์เหล่านี้ได้สร้างความประทับใจและทำให้เขาตื่นเต้นไปด้วย ต่อมาเมื่อเรียนจบเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชากายวิภาคศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมเมื่อปี คศ. 1886 แต่จิตใจของเขามิได้อยู่ตรงที่เป็นอาจารย์เลย ทั้งนี้เพราะเขาอยากรู้อยากเห็นและต้องการออกไปค้นหาซากหลักฐานเพื่อพิสูจน์ต้นกำเนิดของมนุษย์มากกว่าที่จะสอนเกี่ยวกับโครงสร้างทางร่างกายปัจจุบันในสถานศึกษา ดังนั้น เขาจึงลาออกและเริ่มต้นค้นหา หรือเป็น "นักล่า" หาหลักฐานบรรพบุรุษของมนุษย์ด้วยการไปเป็นทหารอาสาสมัครเดินทางล่องเรือไปยังเกาะสุมาตราในปี คศ. 1887 ซึ่งขณะนั้นดินแดนดังกล่าวตกเป็นอาณานิคมของเนเทอร์แลนด์

               ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในอินโดนีเซีย เขาพยายามขุดและค้นหาซาก สิ่งที่เขาพบก็คือเศษกระดูกที่อยู่กระจัดกระจายเกลื่อนทั่วไป แต่เศษกระดูกเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการค้นหา จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม ปี คศ. 1891 เขาก็พบหัวกะโหลกและกระดูกโคนขา จึงนำมาศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียดเป็นเวลาสองสามปี จากนั้นก็เขียนบทความออกเผยแพร่โดยตั้งชื่อสิ่งที่เขาค้นพบว่า พิธิแคนโธรปัส อีเรคตัส (Pethecanthropus erectus) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า มนุษย์ชวา บทความนี้ทำให้คนทั่วโลกต่างตื่นเต้นกับงานการค้นคว้าของเขามาก ซึ่งต่อมาได้มีการชี้ชัดว่า ซากกระดูกที่ดูบัวพบนั้น ก็คือ โฮโม อีเรคตัส นั่นเอง