บทที่4  ความรู้พื้นฐานของสิ่งมีชีวิตและกฎของเมนเดล  >> หน้า 15


ผลการค้นคว้าของเมนเดลกับวิชาพันธุศาสตร์

                ผลการวิจัยของเมนเดลได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางภายหลังที่มีผู้นำงานชิ้นไปศึกษาอย่างจริงจัง  และสามารถทำความเข้าใจในงานวิจัยนี้อย่างถ่องแท้เมื่อราวปี ค.ศ. 1900 หรือภายหลังที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว 16 ปี  จากนั้น ได้มีการนำวิธีการทดลองที่เมนเดลคิดขึ้นไปใช้กับการผสมพันธุ์ของพืชและสัตว์อื่น ๆ  และผลลัพธ์ได้ก่อให้เกิดคุณค่ามหาศาลในวงการพันธุศาสตร์ (Genetics) รวมทั้ง สามารถนำกฎมาใช้กับการศึกษาด้านพันธุศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์ (Human Genetics)  ได้ดีด้วย

                การศึกษาวิชาพันธุศาสตร์ตามกฎเมนเดลนี้ ทำให้การคัดเลือกพันธุ์แท้ของพืชและสัตว์ รวมทั้งสามารถผสมข้ามพันธุ์ได้เป็นผลสำเร็จ และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง อีกทั้งสามารถ พัฒนาความรู้สาขานี้ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น  ในปัจจุบัน วิทยาการทางด้านพันธุศาสตร์ส่งผลให้การเลี้ยงสัตว์และการปศุสัตว์ได้รับความสำเร็จอย่างสูง โดยสามารถปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้มีลูกดกและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วภายใต้สภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น อันเป็นการเพิ่มผลผลิตอาหารประเภทโปรตีนให้เพียงพอกับความต้องการของประชากรภายในประเทศ รวมทั้งสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้อีกด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น  กรณีของไทยที่ผสมพันธุ์ไก่เนื้อ จนกลายเป็นอุตสาหกรรมผลิตไก่ได้เป็นจำนวนมากเพื่อบริโภคภายในประเทศอย่างทั่วถึง  และส่งออกไปขายต่างประเทศกว่าปีละ 150,000 ตันต่อปี นำรายได้เข้าประเทศกว่า 9,000 ล้านบาทต่อปี (ข้อมูลในปี พ.ศ. 2535) นอกจากนี้ การผสมพันธุ์วัวเนื้อ วัวนม สุกร และเป็ด และสัตว์เลี้ยงเช่น สุนัข นก ฯลฯ  ก็ได้รับความสำเร็จเช่นเดียวกัน

                "การปฏิวัติเขียว" (green revolution) หรือการปรับปรุงพันธุ์พืช  โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวที่ให้ผลผลิตสูงก็เป็นผลมาจากการพัฒนาวิชาพันธุศาสตร์เช่นกัน ทำให้โลกสามารถผลิตธัญพืชและผักเพื่อเลี้ยงประชากรที่ทวีจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

                สาขาพันธุศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์นั้นก็ก้าวหน้าไปไกลมาก  ปัจจุบัน เราสามารถอธิบายความผิดปกติทางสีผิว  ผิวหนัง  และเส้นผมของคนบางคนที่มีลักษณะแตกต่างไปจากคนอื่น ๆ ในสังคมเดียวกันได้ เช่นคนเผือกในกลุ่มชนผิวเหลืองและกลุ่มชนผิวดำ  อนึ่ง กล่าวกันว่า คุณลักษณะทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดไปยังลูกหลานในหมู่มนุษยชาติมีจำนวน 2,300 ชนิด    ในจำนวนนี้ เป็นคุณลักษณะเด่นราว 1,218 ชนิด  คุณลักษณะด้อยราว 947 ชนิด  และเป็นคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์ 171 ชนิด