บทที่ 3 หลักเกี่ยวกับการวิวัฒนาการ  >> หน้า 15


                 เราอาจยกตัวอย่างเกี่ยวกับการจับคู่ผิดพลาด (sampling error) เพื่อเทียบเคียงกับหลักข้อนี้  ก็คือ ในกรณีที่สมาชิกของประชากรที่อยู่ในกลุ่มเลือด M  ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไป 2 คน  ทำให้ยีนในกลุ่มของเขาหายไปจากกลุ่มประชากรนั้นจำนวนหนึ่ง  ซึ่งหมายถึงความถี่ของคนที่มีกลุ่มเลือด M  ลดน้อยลงไปและจะมีผลต่อโอกาสในการจับคู่หากจะมีการแต่งงานกันขึ้นระหว่างสมาชิกในกลุ่มประชากรนั้น  เพราะหากจำนวนสมาชิกมีเพียง 100 คน  การเกิดอุบัติเหตุเพียง 2 คน ก็จะเป็นผลให้ความถี่ของยีนในกลุ่มประชากรแตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัดและมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการวิวัฒนาการต่อไป  แต่หากจำนวนประชากรมีมากกว่า 10,000 คนขึ้นไป  การเกิดอุบัติเหตุเพียง 2 รายอาจไม่ก่อให้เกิดผลต่อโอกาสในการจับคู่อย่างมีนัยสำคัญ

4.  การจัดระเบียบใหม่ภายในโครงสร้างของยีน (recombination)

                ตามปกติแล้ว ยีนทางเพศที่ถูกถ่ายทอดไปยังลูกหลานนั้น ทุกครั้งที่กระบวนการถ่ายทอดเกิดขึ้น จะมีการจัดระเบียบใหม่ภายในโครงสร้างของยีนเสมอ  แต่การจัดระเบียบใหม่ภายในยีนอาจไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความถี่ของยีนที่จะก่อให้เกิดการวิวัฒนาการ  อย่างไรก็ตาม การจัดระเบียบใหม่นี้จะมีผลต่อรูปลักษณ์ (แบบแผน) ของโครงสร้างภายในของยีนเปลี่ยนแปลงไป และจะทำให้เกิดการเลือกสรรทางธรรมชาติ  รวมทั้งอาจเกิดการผิดพลาดในการจับคู่  ซึ่งจะทำให้การวิวัฒนาการเกิดขึ้น

5.  การเลือกสรรทางธรรมชาติ (natural selection)

                การเลือกสรรทางธรรมชาติ   ซึ่งเป็นแนวความคิดของชาลส์ ดาร์วิน  ได้อธิบายอย่างละเอียดในตอนต้นของบทนี้แล้ว  โดยความสามารถในการมีชีวิตรอดนั้นเป็นผลมาจากการปรับตัว (adaptation) ทั้งที่เป็นโครงสร้างภายในของยีนและรูปลักษณ์ภายนอก(11)