บทที่3  หลักเกี่ยวกับการวิวัฒนาการ  >> หน้า 16

 

การวิวัฒนาการในระดับสปิชี่

(Evolution at the Species Level)

                ภายใต้เงื่อนไขของสภาพทางธรรมชาตินั้น  สัตว์ที่อยู่ในสปิชี่เดียวกัน  (หรือพันธุ์เดียวกัน) เท่านั้นจึงจะสามารถทำการผสมพันธุ์เพื่อให้เกิดมีลูกหลานขึ้นได้ อาทิเช่น ม้ากับม้า กบกับกบ ลิงอุรังอุตังกับลิงอุรังอุตัง และคนกับคน สัตว์ที่อยู่ต่างสปิชี่กันไม่อาจผสมพันธุ์ภายใต้สภาวะของธรรมชาติและผลิตลูกหลานออกมาได้ เว้นเสียแต่ว่า จะเป็นการผสมข้ามเผ่าพันธุ์ที่เกิดจากความพยายามของมนุษย์ ดังเช่น ม้ากับลา เป็นต้น สปิชื่หนึ่ง ๆ  จะแยกย่อยออกไป  ซึ่งเรียกว่ากลุ่มประชากรแต่ละกลุ่ม และสมาชิกของกลุ่มประชากรแต่ละกลุ่มนี้สามารถผสมพันธุ์กันได้ เช่น คนผิวขาวกับคนผิวดำ  

                ในกรณีที่การสืบพันธุ์ตกอยู่ภายใต้หลักหรือเงื่อนไขของการผ่าเหล่า การย้ายถิ่นของยีน โอกาสการจับคู่การจัดระเบียบใหม่ภายในโครงสร้างของยีน และการเลือกสรรทางธรรมชาติ  รวมทั้งเงื่อนไขเหล่านี้ได้กระทำติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน สปิชี่นั้นก็จะวิวัฒนาการกลายเป็นสปิชี่ใหม่ การเปลี่ยนแปลงในแง่การวิวัฒนาการนี้จะค่อยเป็นไปทีละเล็กทีละน้อย  โดยเริ่มจากความแตกต่างในความถี่ของยีน  และจะนำไปสู่ความแตกต่างทางรูปลักษณ์ภายนอกอย่างถาวรในกาลต่อมา ซึ่งเมื่อถึงขั้นนั้นแล้วการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างสปิชี่เก่ากับสปิชี่ใหม่ไม่อาจกระทำได้อีกต่อไป  ลักษณะดังนี้เราเรียกว่า  การแยกออกเป็นพันธุ์ใหม่  (speciation) โดยโครงสร้างสรีรภาพของสปิชี่ใหม่จะแตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัด

                ในบางกรณี การกำเนิดเป็นพันธุ์ใหม่อาจเป็นอันตรายแก่สปิชี่เดิมนั้นได้ เพราะสปิชี่เก่าอาจไม่สามารถมีชีวิตรอดภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่ได้ จึงต้องสูญสลายไปจากโลก ดังตัวอย่างกรณีของไดโนเสา หรือกรณีของสัตว์น้ำบางประเภทที่สูญพันธุ์ไปเมื่อสังคมกลายเป็นสังคมอุตสาหกรรมเพราะทิ้งสิ่งเน่าเสียลงในแม่น้ำลำคลองเป็นระยะเวลายาวนาน   ผลสุดท้าย สปิชี่ใหม่ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ได้เท่านั้นที่จะมีชีวิตรอด

                จากกระบวนการวิวัฒนาการทั้งหมดดังที่กล่าวมานี้  จะก่อให้เกิดความแตกต่าง (variation)  ในหมู่สัตว์ที่อยู่ในสปิชี่เดียวกันดังที่ปรากฏให้เห็นในยุคปัจจุบันนี้