บทที่ 3 หลักเกี่ยวกับการวิวัฒนาการ  >> หน้า 6

 
          โดยเขาเชื่อว่า "โครงสร้างทางร่างกายของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดที่ดำรงคงอยู่ในลักษณะเช่นนี้เป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดการคงสภาพของโครงสร้างดังที่เป็นอยู่ หากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป โครงสร้างทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ก็จะเปลี่ยนไปด้วย" การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถึงนี้มีสาเหตุมาจากความพยายามของอวัยวะบางส่วนที่พร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม โดยจะมีการเปลี่ยนทีละเล็กทีละน้อยจนกลายเป็นอวัยวะชนิดใหม่ขึ้น และจะส่งผ่านต่อไปยังลูกหลานทางพันธุกรรมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ลามาร์คยังไม่อาจให้คำตอบในรายละเอียดเกี่ยวกับกลไกของการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นเช่นไร

          อาจกล่าวได้ว่า ลามาร์คทำให้แนวความคิดเรื่องการวิวัฒนาการกลายเป็นหัวข้อที่มีการ กล่าวขวัญกันมากยิ่งขึ้น ยกเว้นในหัวข้อที่ว่าสิ่งมีชีวิตจะเปลี่ยนแปลงและกลายเป็นพันธุ์ใหม่ขึ้นมานั้นยังไม่เป็นสิ่งที่นักวิชาการสมัยนั้นยอมรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักวิทยาศาสตร์ร่วมชาติเดียวกับลามาร์คชื่อ ยอร์จ คูเวียร์ ผู้ซึ่งมีชื่อเสียงมากจนได้รับการขนานนามว่า "บิดาแห่งการศึกษาสาขาสัตววิทยา" ที่เชี่ยวชาญในเรื่องการศึกษาด้านกระดูก

          คูเวียร์ไม่เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตพันธุ์ใหม่ที่บังเกิดขึ้นเป็นผลมาจากการวิวัฒนาการจากพันธุ์เก่า ทั้งนี้เพราะเขามีความเห็นว่า สิ่งมีชีวิตทุกกลุ่มทุกพันธุ์ได้รับการกำหนดโครงสร้างของรูปร่างไว้ให้เป็นเช่นนั้น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งแน่นอนตายตัว แต่เมื่อโลกต้องพบกับภัยพิบัติอย่างรายแรง จะทำให้สิ่งมีชีวิตบางส่วนถูกทำลายลง จากนั้นสิ่งมีชีวิตพันธุ์ใหม่ก็จะอุบัติขึ้นและขยายพันธุ์ต่อไป

          แต่ทฤษฎีภัยพิบัติของคูเวียร์มิได้รับการยอมรับเท่าใดนัก ในทางตรงกันข้าม กลับมีผู้คัดค้านเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น ชาลส์ ลีลล์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้ซึ่งเสนอหลักยูนิฟอร์ม(Uniformitarionism) ได้กล่าวแย้งว่า ชั้นหินของโลกที่ก่อรูปมาเป็นดังเช่นทุกวันนี้ได้ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ เรื่อยมา จะเห็นได้ว่าสภาพของภูเขา หุบเขา ทะเลสาบ ทะเลทราย และชายฝั่งทะเลที่ปรากฏให้เห็นดังเช่นปัจจุบันนี้นั้นเกิดจากอำนาจของธรรมชาติที่ก่อให้เกิดการสึกกร่อน อำนาจที่ว่านี้ได้แก่ ความแรงของลม น้ำ น้ำแข็ง ฝน และน้ำค้างแข็ง ได้โรมรันและกระทกกระทั้น ซึ่งอำนาจเหล่านี้ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะยังคงดำเนินอยู่ต่อไปไม่หยุดยั้ง ด้วยเหตุนี้ ชาลส์ ลีลล์จึงย้ำว่าสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติมีผลต่อการปรับแต่งอวัยวะทางด้านร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่ก่อให้เกิดสภาพโครงสร้างที่เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมขึ้น กระบวนการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ยังผลให้มีการต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตรอดของสรรพสิ่งในโลก       อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังไม่ยอมรับว่าลักษณะแห่งการปรับตัวเช่นนี้จะทำให้กลายเป็นพันธุ์ใหม่ขึ้นมา