บทที่ 3 หลักเกี่ยวกับการวิวัฒนาการ  >> หน้า 5


          จะเห็นได้ว่า ทรรศนะเกี่ยวกับพลวัตของสรรพสิ่ง (dynamic perspective) หรือการมองระบบสิ่งมีชีวิตว่าจะต้องมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาดังที่เพิ่งกล่าวถึงนี้นั้น ก่อให้เกิดการมองโลกแบบใหม่ที่มองว่าสรรพสิ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเสมอ และระบบของสิ่งมีชีวิตที่ปรากฏดังที่เห็นในขณะนี้นั้น เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมานับแต่อดีตหลายพันหลายหมื่นปี จนทำให้รูปลักษณ์ของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีลักษณะเป็นดังเช่นนี้ และจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง จากแนวทรรศนะนี้เองได้กลายเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดการค้นคว้าของนักวิชาการในแขนงต่าง ๆ เพื่อร่วมกันศึกษาถึงขบวนการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิต หรือกล่าวโดยย่อก็คือ แนวความคิดเรื่องวิวัฒนาการได้เริ่มบังเกิดขึ้นอย่างจริงจังและเป็นหลักที่ตรงตามทิศทางของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

         ในยุคเดียวกันนี้ การค้นคว้าทางโบราณคดีด้วยการขุดค้นหาซากวัตถุ เครื่องไม้เครื่องมือและซากกระดูกของผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในอดีตเพื่อนำมาพิสูจน์ก็ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง โดยนักโบราณคดีได้ออกสำรวจตามถ้ำ ตามลุ่มน้ำ และโบราณสถานของแหล่งอารยธรรมสำคัญทั่วโลก ตลอดจน "ขุดค้น" หาหลักฐานที่อยู่ใต้ดิน ความรู้ใหม่ที่ได้รับสร้างความตื่นเต้นให้กับวงวิชาการมาก เพราะได้มีการนำข้อมูลที่ค้นพบมาปะติดปะต่อเป็นสายใยแห่งการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว(5) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มืดมนและไม่กระจ่างชัดยังมีอยู่อีกมาก ซึ่งยังต้องการความพยายามและการค้นหาข้อมูลมาสนับสนุนสมมติฐานเกี่ยวกับการวิวัฒนาการ

      ความเฟื่องฟูทางด้านวิทยาการทางวิทยาศาสตร์ในช่วงนี้ได้กระตุ้นให้นักปราชญ์ทำการค้นคว้าต่อไปอย่างต่อเนื่องในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 18 - 19 อาทิเช่น อีรามัส ดาร์วิน (Eramus Darwin มีชีวิตในระหว่าง คศ. 1731 - 1802), ลามาร์ค (Lamarch คศ. 1744 - 1829), ยอร์จ คูเวียร์ (George Cuvier คศ. 1769 - 1832), และชาลส์ ลีลล์ (Charles Lyll คศ. 1797 - 1875) นักปราชญ์เหล่านี้ได้สร้างผลงานสานต่อความรู้ที่มีอยู่เพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งจากผลงานที่ได้สะสมกันมาอย่างต่อเนื่องนี้เองที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่ยังผลให้ชาลส์ ดาร์วินสร้างงานชิ้นหลักให้กับวงการวิทยาศาสตร์ของโลกในเวลาต่อมา

          กล่าวโดยย่อ อีรามัส ดาร์วิน ผู้ซึ่งเป็นปู่ของชาลส์ ดาร์วินได้เสนอหลักการขึ้นใหม่หลายข้อ ได้แก่ หลักวิวัฒนาการว่าเป็นผลมาจากการเลือกสรรตามธรรมชาติและการเลือกสรรทางเพศ หลักการปรับตัวเพื่อให้มีชีวิตรอด หลักการถ่ายทอดทางพันธุกรรมซึ่งเป็นการถ่ายทอดคุณลักษณะพิเศษของพ่อแม่ต่อไปยังลูกหลาน และหลักการวิวัฒนาการของมนุษยชาติ สำหรับลามาร์คผู้ซึ่งเป็นนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสได้ย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสภาพแวดล้อมรอบตัว