บทที่2  ขอบเขตของวิชามานุษยวิทยากายภาพ >> หน้า 9

 
หัวข้อการศึกษา

                ในการค้นหาซากอวัยวะของไพรเมตยุคต้นไปจนถึงโฮโมนั้น นักมานุษยวิทยาต้องทำงานร่วมกับนักโบราณคดีและนักกายวิภาคศาสตร์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพราะนักโบราณคดีมีความชำนาญในการขุดค้นหาซากดึกดำบรรพ์และสามารถแยกแยะเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของพวกโฮโมได้ดี ดังนั้น เมื่อมีการค้นพบหรือขุดค้นแหล่งใด ๆ ก็จะร่วมกันออกไปศึกษาเป็นกลุ่ม

                หัวข้อสำคัญที่นักมานุษยวิทยากายภาพสนใจศึกษาเป็นพิเศษ มีดังต่อไปนี้

1. การศึกษาเกี่ยวกับกระดูก (Osteology) 

                กระดูกที่ใช้ในการศึกษามากที่สุดก็คือ ฟัน เพราะฟันเป็นกระดูกที่มีความคงทนและคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุดที่หลงเหลืออยู่ในซากดึกดำบรรพ์ของไพรเมตที่เสียชีวิตมาแล้วนับหมื่นนับแสนปี อนึ่ง ฟันที่ค้นพบยังสามารถบ่งบอกถึงโครงสร้างของเหงือก และขากรรไก ทำให้เข้าใจถึงลักษณะการขบเคี้ยวและประเภทของอาหาร (เช่น กินแมลง กินพืช และกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร) นอกจากนี้ยังชี้นำให้สามารถวาดรูปจำลองทั้งตัวได้อีกด้วย อนึ่ง โครงสร้างและรูปร่างของฟันสามารถนำไปเปรียบเทียบกับฟันที่ค้นพบจากแหล่งอื่น และนำมาเปรียบเทียบกับฟันของไพรเมตที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ทำให้สามารถล่วงรู้ถึงขนาดรูปร่างของไพรเมตแต่ละประเภทและลำดับขั้นของการวิวัฒนาการ

                นอกจากฟันแล้ว กระดูกส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มีความสำคัญที่จะทำให้นักมานุษยวิทยาเรียนรู้โครงสร้างของร่างกายของไพรเมตแต่ละชนิดได้ กระดูกที่ค้นพบมากที่สุด ได้แก่ ขากรรไก กระดูกแขน กระดูกขา และหัวกะโหลก เป็นต้น