บทที่2  ขอบเขตของวิชามานุษยวิทยากายภาพ >> หน้า 8

 
                 ดังนั้น การศึกษาจากข้อเท็จจริง จากหลักฐานที่ค้นพบ จากการสังเกต การวัดขนาดและการคำนวนอายุของหลักฐานที่ได้รับ เราเรียกว่าการเรียนรู้จากข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบได้ (empirical study) อันถือได้ว่าเป็นหัวใจของการศึกษาของวิชานี้ ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นได้ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีห้องทดลอง (laboratory) ที่มีเครื่องมือ เครื่องใช้ และวัสดุอุปกรณ์ในการทดสอบ รวมทั้งมีตัวอย่างอวัยวะ โครงกระดูกของไพรเมตที่มิใช่มนุษย์ และของโฮมินิดทั้งที่เป็นของจริงและของจำลองมาจากของจริง (artifacts) เพื่อให้อาจารย์และนักศึกษาสามารถทำการค้นคว้าวิจัย

                ซากอวัยวะที่ได้รับจากการออกไปขุดค้นและค้นหาตามแหล่งต่าง ๆ ของโลกนั้น บางครั้งก็พบโดยบังเอิญ เช่น จากแหล่งที่ดินถล่ม การขุดเพื่อสร้างตึกสร้างสะพาน และการขุดแหล่งแร่ ฯลฯ ดังนั้น นักมานุษยวิทยากายภาพจึงต้องตื่นตัวอยู่เสมอ เปิดหูเปิดตาให้กว้างเพื่อรับรู้ข่าวสาร และพร้อมที่จะเดินทางไปยังแหล่งเหล่านั้นเพื่อศึกษาซากกระดูกและภูมิประเทศรอบข้างให้ละเอียด อันจะเป็นข้อมูลสำคัญในการอธิบายถึงการมีชีวิตอยู่ของไพรเมตนั้น ๆ

                ส่วนความพยายามและความอดทนที่จะเรียนรู้พฤติกรรมของไพรเมตที่มิใช่มนุษย์ก็เป็นตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งที่นักมานุษยวิทยาจะต้องศึกษาโครงสร้างทางร่างกายของสัตว์เหล่านี้อย่างละเอียดก่อนที่จะออกไป "เฝ้าสังเกต" และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพวกมัน (นักมานุษยวิทยาบางคนอาจนำสัตว์เหล่านี้มาเลี้ยงไว้ที่บ้านหรือที่ทำงานเพื่อศึกษา) อนึ่ง ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาจะต้องบันทึกเสียง จดบันทึกถึงอากัปกริยาและพฤติกรรมทุกประเภท นับตั้งแต่พฤติกรรมของลูกอ่อนไปจนถึงจ่าฝูง ตัวผู้-ตัวเมีย และตั้งแต่มันตื่นนอนไปจนถึงการเข้านอน นอกจากนี้จะต้องดูอาการดีใจ โกรธ เศร้าใจ ฯลฯ อีกด้วย บันทึกเหล่านี้จะนำมาวิเคราะห์และเขียนเป็นรายงานการวิจัยเพื่อเผยแพร่เป็นความรู้แก่ผู้สนใจ อันเป็นการสร้างองค์ความรู้แก่มวลมนุษยชาติ อย่างไรก็ตาม เราจะต้องนำความรู้ที่ได้มาต่อเติมการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการของการวิวัฒนาการ มิใช่แยกเป็นหน่วยการศึกษาออกต่างหาก