บทที่2  ขอบเขตของวิชามานุษยวิทยากายภาพ >> หน้า 6

 
ความแตกต่างระหว่างมนุษย์

                แม้ว่าจะมีการพัฒนามาจนถึงจุดสูงสุดของสัตว์ในกลุ่มไพรเมตแล้วก็ตาม แต่มนุษย์ในปัจจุบันก็ยังมีความแตกต่างระหว่างกันและกันมากมาย ทั้งที่เป็นความแตกต่างทางร่างกายและการโต้ตอบต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ด้วยเหตุนี้ นักมานุษยวิทยากายภาพจึงให้ความ สนใจต่อความแตกต่างเหล่านี้

                ความแตกต่างที่มองเห็นได้ด้วยตา ได้แก่ สีผิว สีของนัยน์ตา เส้นผม รูปทรงของใบหน้า ปาก จมูก และกระดูกขากรรไกร อนึ่ง ความแตกต่างภายในยีนที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตา เช่น กลุ่มเลือด คุณลักษณะภายในเซลที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคโลหิตจาง (sickle - cell anemia) และ hemopilia ที่ยังผลให้โรคบางอย่างเกิดขึ้นกับคนบางกลุ่มผู้ซึ่งมีลักษณะองค์ประกอบเหล่านี้อยู่ภายในร่างกาย

                การปรับตัวของร่างกายต่อภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมบางประเภท ส่งผลให้โครงสร้างร่างกาย อวัยวะบางส่วนและเนื้อเยื่อห่อหุ้มผิวหนังเปลี่ยนแปลง รวมทั้งมีการส่งทอดสิ่งแปลกใหม่ผ่านไปยังลูกหลานโดยทางพันธุกรรมอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ก็เป็นหัวข้อที่นักมานุษยวิทยาให้ความ สนใจ และพยายามศึกษาวิจัยกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในแถบทะเลทราย แถบอาร์คติก และแถบบริเวณที่ราบสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 5,000 - 12,500 ฟุต ส่วนอีกหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการปรับตัวนี้ก็คือ การสร้างวัฒนธรรมที่มีแบบแผนเฉพาะอย่างขึ้น เช่น คนที่อาศัยอยู่ตามขั้วโลกจะปลูกบ้านด้วยก้อนน้ำแข็งและสวมเสื้อผ้าด้วยหนังสัตว์ ทำให้เกิดมีกรรมวิธีในการถลกหนังสัตว์ออกจากร่าง นอกจากนี้ การใช้ไฟ การรวมกลุ่ม ฯลฯ ก็จะมีแบบแผนพิเศษแตกต่างไปจากกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเขตอบอุ่นและเขตร้อน จะเห็นได้ว่า หัวข้อเรื่องการปรับตัวของมนุษย์ต่อสภาพแวดล้อมได้ครอบคลุมเนื้อหาสาระที่กว้างขวาง จึงมีนักวิชาการที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษ และมีการตั้งชื่อเป็นวิชาใหม่ว่า มนุษย์นิเวศวิทยา (Human Ecology)