บทที่2  ขอบเขตของวิชามานุษยวิทยากายภาพ >> หน้า 4

 
               ในการศึกษาเรื่องลำดับขั้นและสายใยแห่งวิวัฒนาการของสัตว์ตระกูลไพรเมตนั้นจำเป็นที่จะต้องอาศัยหลักฐานเพื่อการพิสูจน์ ทั้งนี้เนื่องจากไพรเมตอุบัติขึ้นครั้งแรกในโลกเมื่อราว 65 ล้านปีมาแล้ว ดังนั้น หลักฐานดังกล่าวจำเป็นต้องขุดค้นหาซากที่หลงเหลือทับถมใต้ชั้นดินชั้นหินเพื่อนำมาพิสูจน์วิเคราะห์ ในขณะเดียวกัน ก็ศึกษาลักษณะทางชีวภาพของไพรเมตที่มีชีวิตในยุคปัจจุบัน แล้วนำมาเปรียบเทียบดูว่าโครงสร้างทางด้านร่างกาย (biological structure) มีความคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ยังพยายามวิเคราะห์ถึงรูปแบบการแสดงพฤติกรรมจากโครงสร้างของร่างกายนั้นด้วย  

                การศึกษาโครงสร้างทางร่างกายระหว่างมนุษย์กับไพรเมตประเภทอื่นนั้น จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างในด้านปริมาณ กล่าวคือ มนุษย์มีปริมาตรของมันสมองมากกว่าลิงทาร์เซียและอุรังอุตัง ในทางตรงกันข้าม มนุษย์มีความแข็งแกร่งของกระดูกขากรรไกรและกระดูกขาน้อยกว่าพวกวานรและสัตว์อื่น อนึ่ง แม้ว่ามนุษย์จะเป็นสัตว์สองเท้า (bipedal) ดังเช่น นก และวานร แต่มนุษย์ก็มีโครงสร้างของโครงกระดูกที่สามารถยืนตัวตั้งตรง โดยใช้เท้าทั้งสองข้างในการพยุงร่างกาย ในขณะที่มือจะมีอิสระและทำหน้าที่อย่างอื่น เช่น หยิบจับสิ่งของ แทนที่จะใช้เป็นส่วนเสริมในการเดินเหิรดังเช่นลิงทั้งหลาย นอกจากนี้ อวัยวะทุกส่วนของร่ายกายมนุษย์จะทำงานอย่างอิสระ มีการประสานงานกันตามคำสั่งของสมองที่อยู่ส่วนกลาง ซึ่งสมองนี้ทำหน้าที่นึกคิดในแง่ที่เป็นนามธรรมได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า คุณลักษณะเหล่านี้มีผลให้มนุษย์มีพลังอำนาจและมีเอกลักษณ์เฉพาะเหนือสัตว์อื่นใด อันอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นความแตกต่างในเชิงคุณภาพ

                ในแง่ของการศึกษาเกี่ยวกับการแสดงออกทางด้านพฤติกรรมนั้นเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการศึกษาโครงสร้างของร่างกายของไพรเมตแต่ละประเภท การศึกษาในส่วนนี้จะทำให้เราเข้าใจถึงสาเหตุว่าทำไมมนุษย์จึงไม่สามารถใช้เท้าในการหยิบฉวยสิ่งของ หรือใช้ห้อยโหนบนต้นไม้ได้เหมือนกับลิง หรือทำไมลิงจึงไม่อาจยืนตัวตรงได้นาน ๆ เหมือนกับมนุษย์ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า พฤติกรรมของสัตว์ในสกุลไพรเมตแต่ละประเภทจะมีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับโครงสร้างทางร่างกายของไพรเมตประเภทนั้น ๆ