บทที่1  อรัมภบท  >> หน้า 4


          ถือได้ว่า ตำนานหนังสือไกลบ้าน (เป็นชื่อเรียกหนังสือที่ใช้พิมพ์ในครั้งแรก) เป็นงานที่มีคุณค่ายิ่งที่ประมุขของประเทศได้ทรงไปสัมผัสและทรงจดบันทึกเรื่องราวของสังคมอื่นด้วยพระองค์เอง จากนั้นได้ตีพิมพ์เผยแพร่ให้คนไทยได้อ่านอย่างกว้างขวาง อันเป็นการเปิดโฉมหน้าของการศึกษาสาขาวิชามานุษยวิทยาของไทยโดยแท้

          ปัจจุบัน มีรายการโทรทัศน์ที่ผลิตโดยคนไทย เช่น สารคดีชุดโลกสลับสี และรายการที่ผลิตขึ้นโดยต่างประเทศ แล้วนำมาบรรยายเป็นภาษาไทย ได้แก่ ย้อนรอยอารยธรรม อนึ่ง ภาพเหตุการณ์ของสังคมวัฒนธรรมต่างถิ่นที่เราเห็นทุกเมื่อเชื่อวันที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ได้แก่ รายการข่าวต่างประเทศผ่านดาวเทียม ทำให้คนไทยทั่วประเทศรับรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ วารสารผู้ส่งออก ของกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ได้นำเรื่องราวด้านสังคมวัฒนธรรมแทรกกับข่าวด้านธุรกิจการค้าของประเทศคู่ค้า อีกทั้ง มีวารสารและนิตยสารหลายฉบับที่เสนอเรื่องราวที่แปลกพิสดารของคนและวัฒนธรรมของชนกลุ่มอื่น ความรู้เรื่องราวเหล่านี้เป็นงานทางด้านมานุษยวิทยาและคนไทยนำไปใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างมาก


การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับมนุษย์ของชนชาวตะวันตก

          ในศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสต์ศักราช ชาวกรีกโบราณได้แล่นเรือไปตามเมืองต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในแถบเมดิเตอเรเนีย พวกเขาได้บรรยายถึงความแตกต่างของคนและเมืองท่าเหล่านั้น ความรู้ดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลแก่พ่อค้าที่ทำการค้าขายระหว่างกัน ต่อมา นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของกรีกชื่อ ฮีโรโดตัส (Herodotus, 484 - 426 B.C) ได้เดินทางออกจากประเทศของตนไปยังอียิปต์ ปาเลสไตน์ บาบิโลน แม็คคาโดเนีย และตราซ เขาได้จดบันทึกเรื่องราวของผู้คนที่ได้พบเห็น เช่น บรรยายถึงข้อแตกต่างระหว่างชาวอียิปต์กับชาวกรีกว่า "...ในอียิปต์ ผู้หญิงเป็นผู้ทำการค้าขายในตลาด ในขณะที่ผู้ชายทอผ้าอยู่ที่บ้าน ผู้หญิงใช้หัวไหล่เพื่อแบกสิ่งของส่วนผู้ชายใช้ศีรษะ ลูกชายไม่ช่วยพ่อแม่ทำงานนอกจากลูกผู้หญิง..." ซึ่งจากผลงานเหล่านี้เอง ทำให้นักมานุษยวิทยาสังคมชาวอังกฤษยกย่องว่า ฮีโรโดตัสเป็นนักมานุษยวิทยาคนแรกของโลก

          ในยุคต่อมา นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันชื่อ ทาซิตัส (Tacitus, A.D. 55 - 117) ได้เขียนเรื่องราวของคนเถื่อน (ชนเผ่าเยอรมัน) ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของยุโรป โดยกล่าวถึงลักษณะโครงสร้างทางร่ายกาย แบบบ้าน สภาพแวดล้อมทางสังคมและขนบธรรมเนียประเพณีของคนเยอรมันอย่างละเอียด