ภาคผนวก วิธีวิทยาการวิจัยเชิงมานุษยวิทยา>> หน้า 18

                (4)                ในสังคมสมัยใหม่ กิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรมมีการจำแนกแยกซอยเนื้อหาออกเป็นส่วนย่อยและได้สร้างความชำนาญพิเศษ (specialization) ในกลุ่มกิจกรรมแต่ละแขนง  ก่อให้เกิดเป็นสถาบันทางสังคมที่เป็นทางการที่ทำหน้าที่เฉพาะทางขึ้นมากมาย เช่น โรงเรียน  กระทรวงศึกษาธิการ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมอนามัย ธนาคาร ฯลฯ แต่ละสถาบันก็จะมีบุคลากรที่ได้รับการฝึกฝนอบรมเฉพาะทางมาทำงานตามกฎระเบียบที่แต่ละสถาบันมีไว้เป็นลักษณ์อักษร ซึ่งมีการกำหนดตำแหน่ง บทบาท การเลื่อนชั้น การลงโทษ และการให้รางวัลไว้อย่างชัดเจน สภาพดังนี้ทำให้การมองภาพรวม (holistic approach) ไม่ค่อยก่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยมากนัก ทำให้คนทั่วไปใช้วิธีการมองภาพรวมในการศึกษาสาระเนื้อหาในระดับรองลงไป จึงดูเหมือนว่าจะเป็นวิธีการที่ด้อยค่าเพราะมิได้ใช้ศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาหลักของสิ่งที่ต้องการศึกษา ดังเช่น ใช้ศึกษาผู้อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งในงานของการเคหะแห่งชาติทั้งหมด เป็นต้น อย่างไรก็ดี นักมานุษยวิทยาก็ยังคงมีความเชื่อมั่นวิธีวิทยาแบบนี้และเป็นแบบฉบับเฉพาะตัวในการวิเคราะห์ปัญหา เพราะเชื่อว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษาจะทำให้มองเห็นภาพหรือสามารถอธิบายอีกแง่มุมหนึ่งได้อย่างชัดเจน