ภาคผนวก วิธีวิทยาการวิจัยเชิงมานุษยวิทยา>> หน้า 16

 

                วิธีวิทยาเชิงมานุษยวิทยาจึงได้รับความเอาใจใส่มากยิ่งขึ้น โดยยึดแบบฉบับการมองภาพรวมสังเกตแบบมีส่วนร่วม และอธิบายข้อมูลเชิงคุณภาพมาใช้ในการศึกษาวัฒนธรรมในแง่ต่าง ๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อให้สังคมธำรงอยู่ได้อย่างสันติและเป็นปกติสุข

 

ข้อจำกัดของวิธีวิทยาการวิจัยเชิงมานุษยวิทยา

                เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากที่จะต้องกล่าวถึงข้อจำกัดของวิธีวิทยาเชิงมานุษยวิทยาพอ

สังเขปเพื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักว่า วิธีวิทยาใด ๆ ก็ตามย่อมมีทั้งแง่ดีที่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์มากมายหากนำไปใช้ ในขณะเดียวกัน วิธีวิทยานั้น ๆ ก็มีข้อจำกัดที่ไม่อาจใช้ศึกษาและอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมได้ทุกอย่าง จึงเป็นหน้าที่ของผู้ศึกษาเองที่จะหาหนทางปิดช่องโหว่ ด้วยการนำวิธีวิทยาหลาย ๆ วิธีมาผสมใช้ในการทำการวิจัย หรือพยายามหาหนทางด้วยสติปัญญาที่มีอยู่ดำเนินการวิจัยให้เกิดผลลัพธ์ที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้

                วิธีวิทยาการวิจัยเชิงมานุษยวิทยามีข้อจำกัด ดังต่อไปนี้

                (1)                การมองภาพรวมดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นไม่อาจกระทำได้ในวงกว้าง เพราะต้องทำการศึกษาเฉพาะแห่งเป็นรายกรณีเพื่อให้ได้ภาพของสังคมวัฒนธรรมในมุมลึก การวิจัยเช่นนี้จึงไม่อาจสรุปผลว่า ทั้งประเทศหรือทั้งภาคมีแบบแผนวัฒนธรรมตามที่ได้เสนอไว้ในรายงาน ผลการศึกษาจะอ้างได้ก็เป็นเพียงภาพของเฉพาะกลุ่มเฉพาะราย หากจะสรุปให้เห็นภาพในวงกว้าง จะต้องทำการศึกษาหลาย ๆ จุด แล้วนำงานวิจัยที่ได้รับมาเปรียบเทียบเพื่อหาข้อสรุปที่เป็นเหตุเป็นผลได้

                งานการศึกษาเปรียบเทียบดังกล่าวมีผู้ทำขึ้น คือ สถาบันวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษยชาติแห่งมหาวิทยาลัยเยลล์ โดยได้นำสังคมที่นักมานุษยวิทยาทำการศึกษากว่า 250 สังคม มาวิเคราะห์เปรียบเทียบในระหว่างปี ค.ศ.1937-1941 ภายใต้การดำเนินงานของศาสตราจารย์ George Peter Murdock และได้รับผลสรุปที่น่าสนใจยิ่ง