ศัพท์สาขามานุษยวิทยาวัฒนธรรมและมานุษยวิทยาสังคม  >> หน้า 19

 

Social structure : 

                โครงสร้างสังคม คือ ความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ค่อนข้างจะมั่นคง หรือการจัดระเบียบของกลุ่ม หรือสถานภาพของกลุ่มเมื่อพฤติกรรมของสมาชิกของสังคมโยงใยและเป็นตาข่าย จึงมีการจำแนกออกเป็นหมวดหมู่ตามสถาบันทางสังคมแต่ละประเภท ซึ่งสถาบันทางสังคมเหล่านี้ก็จะมีความสัมพันธ์และกลายเป็น "โครงสร้างทางสังคม"

 

Social institution : 

                สถาบันสังคม ยอดรวมของรูปแบบความสัมพันธ์ กระบวนการและวัตถุอุปกรณ์ที่สร้างขึ้น เพื่อสนองประโยชน์สำคัญ ๆ ทางสังคมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทุกสถาบันย่อมมีประเพณี จารีต กฎเกณฑ์ เจ้าหน้าที่ ธรรมเนียมปฏิบัติ และสิ่งของอุปกรณ์ เช่น อาคารสถานที่ เครื่องจักรกล อุปกรณ์สื่อสาร ฯลฯ สถาบันสังคมที่รับรู้กันอยู่ทั่วไป คือ ครอบครัว ศาสนา โรงเรียน หรือการศึกษา รัฐ การธุรกิจ และสถาบันที่สำคัญรองลงมา เช่น สถาบันที่เกี่ยวกับการพักผ่อนหย่อนใจ ศิลปะ ฯลฯ สถาบันเหล่านี้คือ ส่วนประกอบที่สำคัญของวัฒนธรรม

 

Structural-Functionalism : 

                ทฤษฎีโครงสร้าง - การหน้าที่นิยม ผู้ก่อตั้งเป็นปรมาจารย์ชาวอังกฤษ 2 ท่านคือ A.R.Radcliffe-Brown และ Bronislaw Malinowski โดยที่ Radcliffe-Brown ให้อิทธิพลไว้มากในเรื่องแนวคิดทฤษฎีที่ใช้ศึกษาพฤติกรรมคน ขณะที่ Malinowski ให้อิทธิพลอย่างมากในงานวิจัยสนามทางมานุษยวิทยา ทฤษฎีนี้เป็นการรวมทฤษฎีโครงสร้างและทฤษฎีหน้าที่เข้าด้วยกัน โดยที่ทฤษฎีโครงสร้างคือ การที่สถาบันทางสังคมมีความสัมพันธ์ต่อกัน และกลายเป็นโครงสร้างทางสังคมขึ้นมา เช่น เนื้อเยื่อเซลล์ จะรวมกันเป็นอวัยวะทุกชิ้น เช่น แขน ขา ลำตัว หู ตา หัวใจ และอวัยวะทุกชิ้นก็จะประกอบกันเป็นโครงสร้างร่างกายของคนเรา ส่วนทฤษฎีหน้าที่ คือ สถาบันทางสังคมแต่ละสถาบันก็จะมีหน้าที่เฉพาะอย่าง เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม เพื่อให้สมาชิกดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างเป็นสุข

                ทฤษฎีโครงสร้างการหน้าที่นิยม ใช้วิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจ เครือญาติ หรือสงครามในเทอมของการจัดระเบียบของกลุ่มคน