จากการค้นพบระบบการสร้างวัฒนธรรมจากตัวแปรหลายตัวแปรนี้เอง
ทำให้โบแอสเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการตั้ง
"กฎสากล"
ที่นักมานุษยวิทยาหลายคนได้เสนอไว้
อาทิเช่น ทฤษฎีวิวัฒนการ (ซึ่งกล่าวว่า
วัฒนธรรมของสังคมทุกสังคมจะต้องผ่านขั้นตอนของการพัฒนาจากการเป็นสังคมป่าเถื่อน
มาเป็นสังคมด้อยพัฒนา
และจะวิวัฒนาการกลายเป็นสังคมที่มีอารยธรรมขั้นสูง)
และทฤษฎีการกระจายทางวัฒนธรรม
(ซึ่งเน้นว่า
วัฒนธรรมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันของสังคมต่าง
ๆ ของโลกนั้น
เป็นผลมาจากการแพร่กระจายจากสังคมหนึ่งไปยังสังคมอีกแห่งหนึ่ง)
เป็นต้น
กฎสากลดังที่กล่าวถึงนี้ได้รับการนำเอาไปใช้เป็นกรอบในการศึกษาและมีการอธิบายวัฒนธรรมของแต่ละสังคมให้เป็นไปตามกฎที่ตั้งขึ้นนั้น
ๆ
ดังนั้น เมื่อโบแอสได้ค้นพบถึงการก่อตัวของวัฒนธรรมที่เป็นผลมาจากปัจจัยที่หลากหลาย
โดยไม่อาจจะยึดถือทฤษฎีใดและกฎสากลใดเป็นเกณฑ์ตัดสินถึงความเป็นมาของวัฒนธรรม
โดยใช้เพียงทฤษฎีนั้นและกฎสากลนั้น
ๆ ได้ ทำให้โบแอสเรียกร้องต่อวงวิชาการในยุคนั้นว่า
"สิ่งที่นักมานุษยวิทยาควรจะกระทำก็คือ
การออกไปจดบันทึกปรากฏการณ์จริงเกี่ยวกับวัฒนธรรมของแต่ละสังคมให้ละเอียดทุกแง่ทุกมุม
โดยเน้นศึกษาถึงรูปแบบและแบบแผนของวัฒนธรรมนั้น
ๆ"
แทนที่จะยึดทฤษฎีที่มีอยู่มาเป็นกรอบในการศึกษาก่อนที่จะไปดูข้อเท็จจริงจากสังคมจริง
ๆ
จะเห็นได้ว่า โบแอสได้เรียกร้องให้นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมทำหน้าที่เป็นเพียง
"นักชาติพันธุ์วรรณา"
โดยให้ความสนใจในการสร้างเครื่องมือการวิจัยเพื่อนำไปใช้ในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและให้ปลอดจากการนำ
"อคติ"
มาใช้ในการเก็บข้อมูลอันเป็นผลเนื่องมาจากการยึดถือทฤษฎีและกฎสากล
เมื่อโบแอสดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์สอนวิชามานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ
เขาก็ได้พร่ำสอนลูกศิษย์ให้ทำหน้าที่เสมือนเป็น
"กล้องถ่ายรูป"
ในการจับภาพวัฒนธรรมของสังคมแต่ละสังคม
นอกจากนี้ เขาได้ย้ำว่า
นักมานุษยวิทยาควรจะเรียนรู้ภาษาพื้นเมืองของกลุ่มชนที่ต้องการไปศึกษาเพื่อจะได้รับความรู้จากสังคมนั้น
ๆ อย่างละเอียดลึกซึ้ง
อนึ่ง โบแอสยังเน้น "การศึกษาเปรียบเทียบ"
วัฒนธรรมของสังคมต่าง ๆ
เพื่อดูถึงประวัติศาสตร์การพัฒนาการว่าจะเป็นไปในรูปลักษณะใดและมีทิศทางไปในแนวไหนบ้าง
โดยใช้ความรู้ที่ได้สะสมจากการออกไปศึกษาวัฒนธรรมของแต่ละสังคมนั่นเอง
|