บทที่14   ศิลปะและภาษา  >> หน้า 5


                ง.                สุภาษิต (proverbs) เป็นคำพูดสั้น ๆ ที่กินความหมายกว้างขวาง อาจเป็นคติสอนใจและเป็นค่านิยมของสังคมด้วย เช่น เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด อย่าชิงสุกก่อนห่าม เป็นต้น

                จ.                ปริศนา (riddle) บางครั้งคนเรายังมีความต้องการให้เกิดความครื้นเครงด้วยการถามคำถามให้คนตอบ เช่น คำถามเกี่ยวกับ "อะไรเอ่ย..." คำถามดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของการประสมข้อแนะที่ผู้ถามบอกให้ทราบหรือเปรียบเทียบข้อแนะที่มีอยู่ หรือความคล้ายคลึง หรือความแตกต่างในธรรมชาติ หรือด้านวัฒนธรรม

                ศิลปะทางด้านภาษายังเกี่ยวข้องกับเสียงเพลง เสียงดนตรี จากเครื่องดนตรีพื้นเมืองและสากล ท่วงทำนอง และน้ำเสียง บทประพันธ์เชิงกวี เพลงยาว นอกจากนี้ยังรวมไปถึงคำสวด คาถา ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ด้วย

3.  ศิลปะการแสดง

                การแบ่งประเภทของนิทานหรือนิยายกับศิลปะการแสดงดูจะก้ำกึ่งกัน ทั้งนี้เมื่อเราพิจารณาถึงผู้เล่านิทาน เขาอาจแสดงกริยาอาการประกอบไปด้วย เราอาจจะเรียกว่าเขากำลังแสดงบทบาทอยู่ อย่างไรก็ตามศิลปะการแสดงเป็นการแสดงออกถึงลักษณะอาการของผู้แสดง อาจจะใช้คำพูด คำร้อง หรือละครเงียบก็ได้ เช่น ดนตรี ระบำ ละคร สำหรับของไทยเราก็เช่น ค่าวซอ จ้อย (ภาคเหนือ) หมอรำ (ภาคอีสาน) รำโนรา (ภาคใต้) รำตัดและลิเก (ภาคกลาง)

                ความแตกต่างของศิลปะการแสดงย่อมเป็นไปตามท้องถิ่นและประเพณี การแสดงละครอาจจะใช้หน้ากากสวม และแต่งกายแบบแปลก ๆ บางครั้งก็เป็นเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ บางครั้งเป็นเรื่องราวของนิยายปรัมปรา หรือพงศาวดาร