บทที่13   ความเชื่อ ศาสนาและการควบคุมทางสังคม  >> หน้า 10

 

ลัทธิความเชื่อพื้นบ้าน

                หากเราออกไปทำการศึกษาเรื่องความเชื่อของชาวเขาเผ่าเย้าในยุคปัจจุบัน ผลการวิเคราะห์อาจพบว่าคนในสังคมนี้ได้รับเอาหลักคำสอนของศาสนาหลักเข้าไปปฏิบัติควบคู่ไปกับการยึดถือความเชื่อตามลัทธิธรรมเนียมแบบดั้งเดิม ทำให้รูปแบบการนับถือศาสนามีลักษณะแปลกแตกต่าง ไปจากการนับถือของคนในเมือง นักมานุษยวิทยาเรียกว่า ลัทธิความเชื่อพื้นบ้าน (little tradition) ส่วนการนับถือของคนเมืองนั้นส่วนใหญ่จะกระทำตามหลักคำสอนของศาสนาที่มีการเขียนบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในทุกขั้นตอน หรือที่นักมานุษยวิทยาเรียกว่า ความเชื่อตามศาสนาหลัก (great traditon) ดังนั้น เราจึงมักเห็นรายงานการวิจัยสังคมที่พยายาม

วิเคราะห์ระบบความเชื่อทั้งสองระบบเมื่อต้องการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมเกี่ยวกับศาสนา

                นักมานุษยวิทยาได้ให้ความสนใจศึกษาความเชื่อพื้นบ้านกับความเชื่อตามหลักศาสนาอย่างจริงจัง ทั้งนี้เพราะเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลเหนือการดำเนินชีวิตของคนในแต่ละสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของชุมชนเล็ก ๆ ลัทธิความเชื่อเป็นเสมือนกฎเกณฑ์กำหนดแนวทางการดำรงชีวิตของสมาชิกสังคมทีเดียว อีกทั้งระบบความเชื่อประเภทนี้ยังไม่ได้พัฒนาให้ก้าวหน้าดังเช่นศาสนาหลัก กฎและข้อห้ามมักเป็นสิ่งที่ส่งผ่านมาโดยคำบอกเล่า ด้วยเหตุนี้ นักมานุษยวิทยาจึงจำเป็นจะต้องประมวลความรู้และหาวิธีการศึกษาที่มีประสิทธิภาพเพื่อที่จะสามารถบันทึกความรู้ความเข้าใจลัทธิความเชื่อพื้นบ้านได้อย่างละเอียด

                ในการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราอาจจำแนกประเด็นสำคัญเพื่อใช้เป็นแนวการศึกษาดังนี้

 

1.  บุคคลที่เป็นผู้นำและผู้ทำหน้าที่ทางด้านพิธีกรรม

                นักมานุษยวิทยาจะต้องให้ความสนใจศึกษาบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทน และ/หรือมีอำนาจลึกลับในตัวหรือมีความรู้ความชำนาญที่ได้รับจากการฝึกฝนเป็นพิเศษในการทำหน้าที่เป็นผู้นำในการทำกิจกรรมทางพิธีกรรม คนเหล่านี้จะได้รับความสนใจโดยต้องค้นหาคำตอบว่าสาเหตุใดที่ทำให้เขามีบทบาทเด่นขึ้นมา เขามีประวัติชีวิตและมีสายตระกูลมาจากไหน และสถานภาพในสังคมเป็นอย่างไร ในที่นี้ขอจำแนกออกเป็น 3 ประเภท คือ