บทที่13   ความเชื่อ ศาสนาและการควบคุมทางสังคม  >> หน้า 8

 

                ในการร่ายคาถาเชื้อเชิญผีทั้งสองมาร่วมพิธีนั้น นอกจากการรินเหล้าถวายแล้วยังต้องนับกระดาษเงินวางลงบนพื้นอีกด้วยก่อนที่จะโยนไม้คู่ บางคราวผีไม่มาง่าย ๆ ต้องวางกระดาษเงินลงมาก ๆ จนกระดาษที่เตรียมมาไม่พอก็มี ต้องวิ่งวุ่นหามาเพิ่ม บางครั้งพิธีทำไกลหมู่บ้านเช่นในไร่ ต้องมีคนวิ่งกลับมาเอากระดาษเงินที่หมู่บ้านก็มี

                เมื่อขวัญมาแล้วและกลับเข้าสู่ร่างของคนแล้วก็เป็นอันจบพิธีด้วยการเผากระดาษเงินทั้งหมด และร่ายคาถาอัญเชิญผีกินเครื่องเซ่นก่อนเดินทางกลับ

                เมื่อเสร็จพิธีร้องขวัญอันเป็นตัวพิธีแล้ว ไก่จะถูกนำมาปรุงเป็นอาหารและร่วมวงรับประทานอาหารกัน ก่อนดื่มสุราหมอผีจะกล่าวคาถาอันเป็นเครื่องหมายสวัสดิมงคลแก่เจ้าของพิธีเล็กน้อยแล้วก็นำเอาแก้วเหล้าไปส่งให้แก่ทุก ๆ คนที่นั่งรวมวง ปากก็กล่าวอวยพรคนที่รับถ้วยแก้วจะนำไปจรดกับแก้วของตนครั้งหนึ่ง หรือรินสุราลงในแก้วของตนนิดหนึ่งก็ได้แล้วส่งคืนถ้วยแก้วของตนเป็นการตอบแทนบ้าง ผู้รับก็จะปฏิบัติทำนองเดียวกัน การอวยพรแบบนี้จะกระทำผลัดเปลี่ยนกันจนถ้วนทั่วทุก ๆ คน จึงจะเริ่มดื่มสุราและรับประทานอาหาร ตามปกติจะดื่มสุรากินกับแกล้มไปพลางคุยกันไปพลางจนพอสมควรแล้ว จึงจะรับประทานข้าวกัน ในขณะรับประทานหมอผีจะกินหัวไก่และฉีกหัวไก่ออกเป็นชิ้นเพื่อตรวจดูกระดูกบางชิ้น ซึ่งสามารถทำนายถึงอนาคตความสุขสบายและเคราะห์ดีหรือไม่ดีของเจ้าของพิธีได้ด้วย

                นอกจากพิธีการดังได้กล่าวมาแล้ว ยังมีข้อปลีกย่อยอีกเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำบ้างไม่ทำบ้าง อาทิเช่น การเจิมหน้าผากด้วยดินหม้อหรือถ่านไฟ โดยการขีดเป็นรูปกากบาทบ้าง เป็นเครื่องหมายดิลกอย่างของอินเดียบ้าง บางคนเจิมแต้มเดียว บางคนก็เจิม 3 แต้ม เรียงเป็นแถวตามเส้นนอนก็มี เรียงเป็นรูปจั่วก็มี แต่ที่นิยมกันมากก็คือเจิมเป็นรูปกากบาท