บทที่13   ความเชื่อ ศาสนาและการควบคุมทางสังคม  >> หน้า 1


บทที่ 13
ความเชื่อ ศาสนาและการควบคุมทางสังคม

                ในสภาพที่เป็นจริงในสังคมใหญ่เช่นสังคมไทยของเรา ศาสนาหลักอันได้แก่ พุทธศาสนา คริสต์ศาสนา และศาสนาอิสลาม ไม่ได้มีปรากฏหรือมีอิทธิพลเหนือความคิดความเชื่อของสมาชิกสังคมทุกคนทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนบางกลุ่มบางคนยึดถือความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งที่มีแบบแผนและวิธีประพฤติปฏิบัติแตกต่างไปจากศาสนาหลัก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ เมืองกรุงเทพฯ ที่ซึ่งพุทธศาสนา (และศาสนาหลักอื่น ๆ) ปรากฏเด่นชัดว่าเป็นศาสนาสำคัญ   ที่คนในเมืองหลวงให้ความนับถือและปฏิบัติตาม แต่ก็มีคนเป็นจำนวนมากให้ความสำคัญกับ  "ศาลพระพรหม" ที่ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ และคนบางกลุ่มให้ความเคารพนับถือ "ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง" ซึ่งตั้งอยู่บริเวณข้างสนามหลวง การให้ความเคารพนับถือเทวสถานดังกล่าวมิได้เป็นเพียงความนึกคิดภายในจิตใจเท่านั้น แต่ยังได้แสดงออกทั้งกายและวาจาด้วยการกราบไหว้บูชา เซ่นสรวง อธิฐานบนบาน บริจาคทรัพย์และสิ่งของ และแสดงความเคารพในขณะที่ย่างกรายผ่านไปมาทุกวี่ทุกวัน เทวสถานทั้งสองแห่งนี้มีอิทธิพลเหนือจิตใจของผู้ซึ่งมาจากหลายอาชีพ ต่างฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม และต่างเชื้อชาติต่างภาษา ดังข่าวคราวเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่กล่าวว่า มีนักธุรกิจชาวฮ่องกงเดินทางมาบนบานศาลพระพรหมเพื่อให้ธุรกิจการค้าของตนเจริญก้าวหน้า ต่อมา เขาก็ประสบความสำเร็จในกิจการงานจริง ๆ จึงกลับมาแก้บนที่ให้ไว้ รวมทั้งเดินทางไปกลับกรุงเทพฯ - ฮ่องกงทุกปีเพื่อจุดประสงค์มากราบไหว้ศาลพระพรหม ซึ่งรวมกันนับเป็นจำนวนสิบ ๆ ครั้งแล้ว

                ส่วนท้องถิ่นตามชนบทที่อยู่ห่างไกลที่ศาสนาหลักยังเข้าไปไม่ถึง หรือลัทธิความเชื่อยังไม่พัฒนาถึงขั้นที่เรียกว่าเป็นศาสนาได้ สมาชิกของสังคมเหล่านั้นก็มีประเพณีความเชื่อที่น่าสนใจ และจะมีแบบแผนที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละสังคม ลัทธิประเพณีความเชื่อเหล่านี้มีอิทธิพลต่อวิถีทางการดำเนินชีวิต และเป็นเสมือนกฎเกณฑ์การควบคุมทางสังคมเพื่อป้องกันมิให้มีการประพฤติตนออกนอกลู่นอกทาง ทั้งนี้เพราะสังคมเหล่านี้ยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้เป็นลายลักษณ์อักษร ดังตัวอย่างลัทธิความเชื่อของชาวเขาเผ่าเย้าต่อไปนี้