บทที่12  พฤติกรรมทางการเมืองและการควบคุมทางสังคม  >> หน้า 15

 

ความส่งท้าย

                นักมานุษยวิทยาเชิงการเมือง เน้นศึกษาลักษณะการจัดการพฤติกรรมทางด้านการเมืองในสังคมประเภทต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสังคมดั้งเดิม และสังคมสมัยใหม่ ในสังคมดั้งเดิมและสังคมของประเทศที่กำลังพัฒนานั้น แนวโน้มของการศึกษาด้านการเมืองมิได้แยกศึกษาออกเฉพาะ แต่จะมีการมององค์ประกอบด้านอื่น ๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพราะจะมีความสัมพันธ์ต่อกันและกันอย่างแน่นแฟ้น ทั้งนี้เพราะสังคมดังกล่าวแบบแผนความประพฤติตนในสังคมมักจะมีแนวโน้มคล้ายคลึงกัน และสังคมมีขนาดเล็ก ดังนั้นในการวิเคราะห์จึงมักจะใช้สังคมทั้งสังคมเป็นหน่วยการวิเคราะห์ (unit of analysis) ส่วนสังคมขนาดใหญ่และมีความสลับซับซ้อน นักมานุษยวิทยามักจะมุ่งศึกษาถึงกลุ่มการเมืองหรือจุดใดจุดหนึ่งทางการเมืองอย่างละเอียด เช่น การเมืองระดับท้องถิ่น การเลือกตั้งแต่ละครั้ง พรรคการเมืองหรือองค์การทางการเมือง เป็นต้น แต่ในการวิเคราะห์นั้น นักมานุษยวิทยาจะระลึกอยู่เสมอว่า เรื่องแต่ละเรื่องที่ศึกษานั้นเป็นส่วนหนึ่งของสังคมทั้งหมด และต้องอธิบายว่า ส่วนใหญ่มีอิทธิพลต่อส่วนย่อยอย่างไร และส่วนย่อยมีอิทธิพลต่อส่วนใหญ่อย่างไร ตัวอย่างเช่น เมื่อศึกษาถึงการเมืองส่วนท้องถิ่น (local-level politics) ต้องพิจารณาการเมืองระดับประเทศด้วยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองส่วนท้องถิ่นอย่างไร ในทางกลับกัน การเมืองท้องถิ่นมีอิทธิพลต่อการเมืองระดับประเทศมากน้อยแค่ไหน(6)