บทที่12  พฤติกรรมทางการเมืองและการควบคุมทางสังคม  >> หน้า 14

 

5.รัฐหรือประเทศ

                การปกครองแบบรัฐ คือ มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยคนทั้งประเทศ ทำให้อำนาจของรัฐกับความสัมพันธ์ทางด้านอื่น ๆ เช่น เครือญาติ อำนาจโดยเทวโองการลดน้อยลง การปกครองแบบนี้เป็นที่นิยมกันในสมัยปัจจุบัน โดยจะมีสถาบันทางการเมืองเป็นอิสระและมีกลไกซับซ้อนดังที่เราเห็นในทุกวันนี้ ลักษณะเด่นของโครงสร้างการปกครองแบบรัฐมีแยกย่อยดังต่อไปนี้

                (1)                เป็นการปกครองที่อำนาจกระจายมาจากส่วนกลางโดยผู้แทนที่ได้รับเลือก รัฐบาลที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อนจำเป็นต้องมีตัวแทนเป็นผู้ใช้อำนาจเพื่อทำหน้าที่ในการตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ได้ในสังคมแทนประชาชน ในสังคมปัจจุบัน ไม่มีใครที่จะมีอำนาจสิทธิ์ขาดและแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยตัวเขาเอง ดังนั้นการแบ่งแยกอำนาจเป็นหมวด ๆ เช่น นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ จะสามารถรับผิดชอบโดยตรงแทนประชาชนและใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อประชาชนทุกคน

                (2)                ความชำนัญพิเศษทางการเมือง สังคมที่เจริญแล้ว ผู้ประกอบอาชีพแต่ละสาขาต้องมีความรู้ความชำนาญในวิชาแต่ละสาขานั้น รวมทั้งต้องสนใจและทำงานในด้านนั้นอย่างเต็มเวลา ในด้านการเมืองและการปกครองก็เป็นเช่นเดียวกัน นักการเมือง และนักปกครองก็ต้องใช้ความสามารถพิเศษที่ปกครองคนทั้งประเทศได้ และทำงานร่วมกับคนอื่นเป็นกลุ่ม รวมทั้งรักษากฎเกณฑ์ทางสังคมไว้  คนเหล่านี้ ได้แก่ รัฐมนตรี ที่ปรึกษา นักการทูต นักปกครอง ผู้แทนราษฎร ฯลฯ

                (3)                การเก็บภาษีอากร เนื่องจากสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น รัฐจำเป็นต้องหาเงินมาใช้จ่ายให้กับผู้ชำนัญการในสาขาต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว การที่จะได้เงินมาก็ต้องเรียกเก็บภาษีอากรจากประชาชนทั่วประเทศ กฎเกณฑ์ของการเก็บภาษีอากรจะต่างกันไปตามสภาพของแต่ละสังคม

                (4)                ขอบเขตขัณฑสีมา คำว่ารัฐ หมายรวมถึงอาณาบริเวณด้วย การปกครองปัจจุบันย่อมต้องแบ่งเขตของการปกครองออกเป็นส่วนย่อย เป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เป็นต้น