บทที่10  การแลกเปลี่ยนและเงินตร   >> หน้า 10

               ดังนั้น ในระยะต่อมา ได้มีผู้ที่เสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าว เช่น ศาสตราจารย์ชไนเดอร์ ได้จำแนกสิ่งของออกเป็น 2 ประเภท คือ สิ่งที่เป็นวัตถุ ได้แก่ ข้าว อาหาร สิ่งของ และสิ่งที่เป็นทรัพย์ทางสังคม เช่น สถานภาพ ความรัก ฯลฯ

                ชไนเดอร์กล่าวว่า  การแลกเปลี่ยนหมายถึงการให้และรับสิ่งที่มีคุณค่าทั้งทางวัตถุและสังคม ผู้ที่แลกเปลี่ยนมักประสงค์ที่จะได้รับผลประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนนั้นสูงสุดโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างต้นทุนและผลกำไรจากกิจกรรมนั้น ๆ ด้วย(7) 

การใช้เงินตรา

                เนื่องจากมีความจำเป็นในเรื่องการกระจายผลผลิตของคนในสังคมดั้งเดิม ทำให้คนสร้างรูปแบบการแลกเปลี่ยนชนิดต่าง ๆ ดังเช่นที่กล่าวแล้วในหัวข้อข้างต้นและยังมีรูปแบบอื่นอีกที่นักมานุษยวิทยาได้ค้นพบ ผู้ที่สนใจอาจหาอ่านได้จากรายงานการวิจัยเกี่ยวกับชาติพันธุ์วิทยาทั่วไป ในกาลต่อมา  ได้มีการสันนิษฐานว่า กิจกรรมการแลกเปลี่ยนได้แปลงรูปมาเป็นการกระทำที่ "เป็นทางการ" (formal transaction) และลดการใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางด้านนี้ลง ในระบบเศรษฐกิจแบบใหม่นี้ได้ปรากฏเป็นรูปกิจกรรมเชิงการค้า (commercial transaction) ซึ่งเข้ามามีส่วนสัมพันธ์กับชีวิตระหว่างคนในสังคมเดียวกันและระหว่างชุมชนมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ การใช้เงินตราจึงมีความจำเป็นและได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนในสังคมปัจจุบันชไนเดอร์กล่าวว่า 

                 ไม่มีใครรู้แน่นอนว่าคนในสังคมรู้จักใช้เงินตราขึ้นเมื่อไหร่และหลักฐานที่นักมานุษยวิทยาค้นพบก็ปรากฏว่าสังคมดั้งเดิมจำนวนมากก็มีการใช้เงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องพยายามค้นหาคำตอบนี้  แต่คำถามที่จะใช้เป็นแนวทางในการอธิบายในหัวข้อนี้ได้แก่ เงินตราคืออะไรและมีหน้าที่ประโยชน์อย่างไรในกิจกรรมการแลกเปลี่ยนของคนในสังคม  ตลอดจนมีความแตกต่างกันอย่างไรระหว่างการใช้เงินตราในสังคมดั้งเดิมกับสังคมปัจจุบัน