บทที่10  การแลกเปลี่ยนและเงินตรา   >> หน้า 5

AN113


แนวความคิดของนักมานุษยวิทยาเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนในสังคมดั้งเดิม

                นอกเหนือจากตัวอย่างสังคมที่ได้หยิบยกขึ้นมากล่าวถึงลักษณะกิจกรรมแลกเปลี่ยนแล้ว ยังมีข้อมูลของสังคมอื่น ๆ อีกมากที่นักมานุษยวิทยาได้ทำการศึกษาวิจัยและได้บรรยายเรื่องราวต่าง ๆ   เกี่ยวกับการกระทำทางสังคมด้านนี้ไว้อย่างละเอียด   จนกระทั่งมีนักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส  ชื่อ มาร์เซล มอสส์  ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์และตั้งเป็นทฤษฎีไว้  ดังมีรายละเอียดดังนี้

                การให้ของกำนัลระหว่างคนในสังคมดั้งเดิมนั้น มิได้เป็นการกระทำที่ให้เปล่าโดยมิได้หวังผลตอบแทน แต่เต็มไปด้วยข้อบังคับและกฎเกณฑ์ทางสังคมซึ่งผู้ให้และผู้รับจะต้องปฏิบัติต่อกัน กระบวนการการแลกเปลี่ยนนั้นอยู่ภายใต้ระบบทางสังคมที่เขาให้ชื่อว่า  "total prestation" โดยมีหลักว่า

                (1)                หลักความจำเป็นที่จะต้องให้ 

                                (The obligation to give)

                (2)                หลักความจำเป็นที่จะต้องรับ 

                                (The obligation to receive)

                (3)                หลักความจำเป็นที่จะต้องตอบแทนแก่ผู้ให้ 

                                (The obligation to return)

                ในหลักความจำเป็นที่จะต้องให้ของแก่คนอื่นนั้นมีความสำคัญยิ่ง เพราะการให้เป็นการเปิดสัมพันธภาพกับอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าหากคนปฏิเสธที่จะให้ของแก่คนอื่นแล้วก็เปรียบเสมือนการปฏิเสธให้ความเป็นมิตร นั่นหมายถึงการปฏิเสธการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นนั่นเอง ส่วนสิ่งของที่จะใช้ในการให้แก่คนอื่นนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นสินค้า สิ่งของทางวัตถุ ทรัพย์สมบัติ สิ่งของส่วนตัวและเศรษฐทรัพย์อื่น ๆ เท่านั้น แต่รวมไปถึงความสุภาพ ความสนุกสนานเพลิดเพลิน พิธีกรรม อาวุธ ผู้หญิง เด็กเล็ก การเต้นรำ และงานเลี้ยง(5)