บทที่10  การแลกเปลี่ยนและเงินตรา   >> หน้า 1

AN113


บทที่ 10
การแลกเปลี่ยนและเงินตรา

 
วัฏจักรของกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจนั้นเมื่อมีการสร้างผลผลิตขึ้นมาแล้วผู้ผลิตอาจบริโภคผลิตผลที่ตนได้ผลิตขึ้นส่วนหนึ่งและอีกบางส่วนก็อาจนำไปแลกสิ่งของอื่น ๆ ที่ตนต้องการยิ่งในสังคมสมัยปัจจุบัน ผู้ผลิตแทบจะไม่ได้ใช้สิ่งของและบริการที่ตนผลิตได้เลย เพราะสิ่งเหล่านั้นมิได้เป็นประโยชน์แก่เขาโดยตรง แต่มีประโยชน์ที่จะใช้แลกเปลี่ยนกับสิ่งของของผู้ผลิตคนอื่น ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตโลงศพ อาจารย์สอนหนังสือ ผู้ทำงานราชการและทนายความ เป็นต้น ซึ่งผู้ผลิตเหล่านี้ต้องใช้ผลิตผลและบริการของตนแลกกับสิ่งของที่ตนต้องการกับผู้ผลิตคนอื่น ๆ  ดังนั้น กลไกในการจำหน่ายหรือแลกผลผลิต   (distribution)  จึงเป็นหัวข้อสำคัญในการศึกษาวิชามานุษยวิทยา ในบทนี้ จะได้กล่าวถึงรูปแบบของการแลกเปลี่ยนสิ่งของ สินค้าและบริการในสังคมประเภทต่าง ๆ พอสังเขป และจะวิเคราะห์ถึงผลสะท้อนของการกระทำทางสังคมเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนในแง่ของเครือญาติ การเมืองและความเชื่อ ตลอดจนศึกษาถึงบทบาทของการใช้สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหรือการใช้ "เงินตรา"

 การแลกเปลี่ยนในสังคมดั้งเดิม

                เพื่อที่จะเข้าใจกลไกในการจ่ายแจกหรือแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการของคนในสังคมที่จะศึกษานั้น นักมานุษยวิทยาจำเป็นที่จะต้องรู้ถึงแนวความคิดขั้นพื้นฐานและรูปแบบชนิดแรกเริ่มของกิจกรรมประเภทนี้เสียก่อน ความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาสังคมดั้งเดิมของนักมานุษยวิทยาในสมัยก่อน ๆ อาจเป็นแนวทางในการสืบสาวราวเรื่องไปถึงต้นตอของพฤติกรรมของคนในเรื่องนี้ได้