บทที่9  ระบบเศรษฐกิจเทคโนโลยีและสภาพนิเวศ  >> หน้า 4


                 ต่อไปนี้จะกล่าวถึงแต่ละปัจจัยอย่างละเอียด พร้อมทั้งยกตัวอย่างที่นักมานุษยวิทยาได้ทำการศึกษาไว้ ดังนี้

สภาพนิเวศหรือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ

สภาพนิเวศเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อวิถีทางการดำเนินชีวิตและแนวทางการทำมาหากินของคนในแต่ละสังคม เราอาจแบ่งสภาพนิเวศออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกได้แก่สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติหรือลักษณะของภูมิศาสตร์กายภาพ และประเภทที่สองคือขนาดของประชากรและแบบแผนการตั้งถิ่นฐาน

                 สภาพทางภูมิศาสตร์ของโลกนี้มีลักษณะแตกต่างกันและมีผลต่อขนาดของประชากรและแบบแผนการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ เราอาจจำแนกออกได้ดังนี้ บริเวณทะเลทราย บริเวณเขตร้อนตามแถบเส้นศูนย์สูตร บริเวณเขตอากาศแบบเมดิเตอเรเนียน บริเวณเขตอบอุ่น บริเวณทุ่งหญ้า บริเวณที่ราบสูงและภูเขา และบริเวณขั้วโลก

                 ตัวอย่างต่อไปนี้จะกล่าวถึงการดำรงชีวิตของคนที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างแบบแผนทางวัฒนธรรมเฉพาะขึ้น ดังเช่น

                 ก. สังคมที่ตั้งอยู่ในบริเวณทะเลทราย สมาชิกของสังคมประเภทนี้มีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้นเพราะสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยให้พวกเขาคิดสร้างสิ่งอื่นใดมากไปกว่าการแสวงหาปัจจัยพื้นฐานมาใช้ในการบริโภคในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างได้แก่ พวกบุชแมนที่อาศัยตามบริเวณทะเลทรายกาลาฮีรี สิ่งสำคัญที่สุดในการดำเนินชีวิตก็คือน้ำ พวกบุชแมนจะเก็บน้ำไว้ในเปลือกไข่ของนกกระจอกเทศ และนำไปฝังเพื่อนำไปใช้ในยามขาดแคลน ในขณะเดียวกัน ทุกคนต้องเรียนรู้ว่าจะหาหัวเผือกหัวมันและลูกแตงโมได้ที่ไหน เพื่อใช้รับประทานแทนน้ำในยามที่จำเป็น อาหารส่วนใหญ่ได้มาจากการล่าสัตว์ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้นิสัยของสัตว์ต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไรเพื่อที่จะจับและล่าสัตว์เหล่านั้นได้โดยง่าย

                 การดำรงชีวิตของชาวพื้นเมืองออสเตรเลียก็เป็นอุทาหรณ์ที่น่าสนใจยิ่งสำหรับสังคมที่อาหารมีน้อยและหายาก ในบางสังคม อาหารการกินหายากยิ่งกว่ากรณีของพวกบุชแมนเสียอีก กล่าวคือ พวกเขาจะกินของทุกอย่างที่พอจะหาได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นหัวเผือก หัวมัน ผัก ดอกไม้ แมลง กิ้งก่า หรือนกชนิดต่าง ๆ ผู้อ่านลองศึกษาตัวอย่างของคนที่อาศัยอยู่ในสังคมต่อไปนี้และเปรียบเทียบชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างกัน