บทที่ 8 มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม  >> หน้า 5


แนวคิดพื้นฐานนี้ได้รับการแต่งเติมและขยายความอย่างละเอียดจากนักวิชาการชาวฝรั่งเศส ชื่อ อีมิล เดอร์ไคลม์ (Emile Durkheim 1858 - 1917)    ที่ได้จำแนกสังคมของโลกในยุคนั้นออกเป็น 2 ประเภท  ได้แก่ ประเภทที่หนึ่งคือสังคมดั้งเดิม ที่สมาชิกของสังคมมีจำนวนไม่มากนัก อาศัยอยู่เป็นกลุ่มโดดเดี่ยวห่างไกลจากสังคมอื่น  มีโครงสร้างสังคมแบบง่าย ๆ  ไม่สลับซับซ้อน  และใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันแบบพื้นบ้าน   ซึ่งเดอร์ไคม์เรียกสังคมชนิดนี้ว่า Mechanical solidarity หรือ หมายถึงสังคมที่ตั้งอยู่นอกทวีปยุโรป

               *ชาติพันธุ์วิทยา   เป็นวิชาศึกษาสังคมวัฒนธรรมของชนกลุ่มต่าง ๆ  รวมทั้งมีการนำสังคม วัฒนธรรมเหล่านั้นมาเปรียบเทียบเพื่อหาแบบแผน และกฎของวัฒนธรรม

                 ชาติพันธุ์วรรณา  (Ethnography)   เป็นการศึกษาสังคมวัฒนธรรมของแต่ละสังคม

                ส่วนสังคมอีกประเภทหนึ่ง คือ สังคมสมัยใหม่ หรือสังคมแบบ organic solidarity เป็นสังคมที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อนมาก ดังเช่น สังคมในยุโรปสมัยนั้นที่เป็นสังคมเมืองอุตสาหกรรม มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นและมีความแตกต่างกันในด้านความสัมพันธ์ต่อกัน ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม  และขนบธรรมเนียมประเพณี  มีการแบ่งซอยการทำงานออกเป็นส่วนย่อยตามความชำนัญพิเศษทั้งในโรงงานและงานอาชีพอื่น ๆ มีการดำเนินชีวิตแบบเร่งรีบ และแข่งขันกันทำงาน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ    คนมีความเป็นตัวของตัวเองสูงและนิยมยกย่องความสำเร็จในชีวิตที่วัดด้วยวัตถุมากกว่า นอกจากนี้ สังคมประเภทนี้ต้องติดต่อสัมพันธ์และพึ่งพากับสังคมอื่น ๆ เพื่อธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม แรงงาน ฯลฯ

                ต่อมา เดอร์ไคม์เขียนหนังสือชื่อ กฎระเบียบการทำวิจัยทางสังคม ขึ้นในปี คศ.18985 แต่ความสนใจของเขาโน้มเอียงไปในการศึกษา  "สังคมอุตสาหกรรม"   ซึ่งหนังสือของเขาเป็นการเสนอวิธีการศึกษาเพื่อนำไปใช้ในการศึกษาสังคมของยุโรปเป็นหลักและเรียกการศึกษานี้ว่า "วิชาสังคมวิทยา" เมื่อนักมานุษยวิทยารุ่นบุกเบิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโบรนิสลอว์  มาลินอฟสกี้   (Bronislaw Malinowski)    และอัลเฟรด เรดคลิฟ-บราวน์ก็ได้นำแนวคิดการศึกษาสังคมไปใช้ในการศึกษาสังคมดั้งเดิมที่ตั้งอยู่นอกทวีปยุโรป  และเรียกว่า "วิชามานุษยวิทยา"  ดังนั้น   ชาวอังกฤษจึงกล่าวขวัญว่า มาลินอฟสกี้และเรดคลิฟ-บราวน์เป็นผู้นำสำคัญในการวางรากฐานวิชามานุษยวิทยาสังคม