บทที่ 5 ไพรเมตกับบรรพบุรุษของมนุษย์  >> หน้า 7


                      (2) กอริลล่า  มีถิ่นที่อยู่ทางแถบชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาบริเวณเขตเส้นศูนย์สูตรตามบริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำคองโก เป็นวานรขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักมากราว 670 ปอนด์ แต่มีความสูงเพียง 5 ฟุตครึ่งเท่านั้น กอริลล่ามีขาหน้ายาวกว่าขาหลัง ไม่มีขนหน้าอก มีขนสีดำปกคลุมทั่วร่างกายยกเว้นใบหน้า

                        มีปริมาตรสมองราว 460 - 550 ลบ.ซม. มีกระดูกจมูกลาดจนทำให้ดั้งจมูกแบน  มีริมฝีปากบาง  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนพื้นดิน  แต่ก็ปีนป่ายบนต้นไม้ได้  รู้จักสร้างรังสำหรับเป็นที่หลับนอน  ปกติจะอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงตั้งแต่ 3 - 10 ครอบครัว

                        นักมานุษยวิทยาคนแรกที่ทำการศึกษาชีวิตของกอริลล่า คือ ยอร์จ ชาล์เลอร์ (George B. Schaller) ในระหว่างปี คศ. 1959 - 1960 และนักมานุษยวิทยาหญิงสาขาไพรเมตศึกษาอีกผู้หนึ่งชื่อ ไดแอน ฟอสซี่ (Dian Fossey)  อดีตเคยเป็นเลขานุการิณีบริษัทแห่งหนึ่ง  แต่เธอสนใจเรื่องราวของกอริลล่ามาก  จึงได้ออกเดินทางไปศึกษาฝูงกอริลล่าที่ประเทศแองโกล่านานถึง 3 ปี ระหว่าง คศ. 1967 - 1970 ผลการศึกษาของเธอเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า  เป็นงานยอดเยี่ยมและเป็นงานภาคสนามแบบใหม่ที่ต้องไปอาศัยอยู่ร่วมกับฝูงกอริลล่าเป็นเวลานานในสภาพธรรมชาติ  และจดบันทึกชีวิตความเป็นอยู่อย่างละเอียด

                        (3)  อุรังอุตัง เป็นวานรที่มีความร่าเริง มีอยู่เฉพาะที่เกาะบอร์เนียวและเกาะสุมาตรา  อาศัยอยู่บนต้นไม้  มีขนหยาบ  เส้นผมเป็นสีน้ำตาลแดง  อุรังอุตังตัวผู้มีน้ำหนักราว 165 ปอนด์  ส่วนตัวเมียราว 80 ปอนด์  มีขนาดสมองราว 400 ลบ.ซม. นักมานุษยวิทยาหญิงที่มีผลงานการศึกษาอุรังอุตังที่เกาะบอร์เนียว  ได้แก่ บิรุท (Birute Galdikas - Brindamour)

                                การศึกษาโครงสร้างทางร่างกายของวานรและลิงในวงศ์ใหญ่โฮมินอยมีชีวิตอยู่ปัจจุบัน และนำมาเปรียบเทียบกับโครงสร้างทางสรีระจากซากที่ขุดค้นพบ  ทำให้สามารถเรียนรู้ถึงแบบแผนการวิวัฒนาการของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ทางร่างกายของไพรเมตที่ไม่ใช่มนุษย์แต่ละกลุ่ม  ซึ่งสามารถแยกสายการพัฒนาออกจากกันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  ส่วนผลที่ได้รับจากการศึกษาพฤติกรรม ก่อให้เกิดความเข้าใจในด้านการใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ในการดำรงชีวิต  ตลอดจนด้านการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม  และด้านการมีชีวิตในสังคมของแต่ละสปิชี่