บทที่4  ความรู้พื้นฐานของสิ่งมีชีวิตและกฎของเมนเดล  >> หน้า 8

 
                โมเลกุลดีเอ็นเอประกอบด้วยสารทางเคมี 4 ตัว  ได้แก่ adenine, guanine, cytosine และ thymine  นอกจากนี้ ยังมีส่วนผสมของน้ำตาลและฟอสเฟต  อันเป็นตัวนำคุณลักษณะทางพันธุกรรม(4)

                การค้นพบโมเลกุลดีเอ็นเอในระหว่างปี ค.ศ. 1951 - 1953 นั้น  เป็นความสำเร็จของวงการวิทยาศาสตร์ทางชีวภาพของโลกในการไขความกระจ่างเรื่องกลไกการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เพราะเป็นการเปิดเผยความเร้นลับทฤษฎีวิวัฒนาการที่ผู้คนต่างทุ่มเทความพยายามในการค้นหาคำตอบในเรื่องนี้นับเป็นเวลาหลายร้อยปี  ผู้ที่ค้นพบโมเลกุลดีเอ็นเอ ก็คือ เจมส์ วัทสัน (James D. Watson) ฟรานซิส คริค (Francis Crick) และมอริซ วิลกินส์ (Maurice Wilkins) ในขณะที่พวกเขาทำการวิจัยที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ  และสามารถ ทำภาพจำลองโครงสร้างของโมเลกุลดีเอ็นเอได้เป็นผลสำเร็จ จากผลงานดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั้งสามได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์และกายวิภาคศาสตร์  ในปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) อันเป็นการแสดงถึงเกียรติประวัติในความวิริยะ อุตสาหะ ของพวกเขา

                ต่อมา มีการค้นพบโมเลกุลอีกตัวหนึ่ง ชื่อ Ribonucleic Acid (RNA) ที่ทำหน้าที่เป็นตัวนำคุณลักษณะทางพันธุกรรมไปสู่ลูกหลานเช่นเดียวกัน  โมเลกุลอาร์เอ็นเอนี้พบในนิวเคลียสและไซโตปลาสซึ่ม  ผู้ทำการค้นพบโมเลกุลชนิดนี้คือ ซิดนีย์ อัลทแมน (Sidney Altman) และโธมัส เค็ค (Thomas Ceck) ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ชาวอเมริกันเมื่อปี ค.ศ. 1978  และทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีเมื่อปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532)  กล่าวกันว่า ผลการค้นพบในเรื่องนี้ทำให้ต้องเปลี่ยนบทเรียนวิชาเคมีเพื่อให้เข้ากับความรู้ที่ค้นพบใหม่นี้จำนวนหลายบททีเดียว(5)  

                      ในหนังสือเล่มนี้  ต้องการจะชี้ให้เห็นถึงปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการถ่ายทอดทางพันธุกรรมด้วยความรู้ที่ค้นพบในคริสต์ศตวรรษที่ 20  ทำให้นักวิทยาศาสตร์อธิบายความเร้นลับของกลไกการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้อย่างสมเหตุสมผลและสามารถตรวจสอบได้  อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมิได้อธิบายถึงรายละเอียดของโครงสร้างของดีเอ็นเอ (DNA : structure) ระหัสการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของดีเอ็นเอ   (DNA : The genetic  code)   และกระบวนการของการนำคุณลักษณะของพ่อแม่ไปยังลูกหลานของดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ (DNA : process) ผู้สนใจอาจหาอ่านได้จากหนังสือเกี่ยวกับพันธุศาสตร์ทั่วไป(6)