บทที่4  ความรู้พื้นฐานของสิ่งมีชีวิตและกฎของเมนเดล  >> หน้า 3


โครงสร้างของเซลล์

                เซลล์ประกอบด้วยสารทางชีวภาพหลัก 4 ชนิด คือ คาร์โบไฮเดรท (carbohydrates) ไขมัน (lipid) กรดนิวคลิอิก (nucleic acids) และที่สำคัญได้แก่โปรตีน (proteins) 

                อาจถือได้ว่าเซลล์เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ มีโครงสร้าง 2 ส่วน คือ นิวเคลียสและไซโตปลาสซึ่ม (cytoplasm) นิวเคลียสทำหน้าที่หลักในการถ่ายทอดคุณลักษณะทางชีวภาพของพ่อแม่ไปสู่ลูกหลาน (ในกรณีของเซลล์สืบพันธุ์) นิวเคลียสจะอยู่ตรงกลางของเซลล์ โดยจะแยกออกจากไซโตปลาสซึ่มด้วยเยื่อ  (Membrane) บาง ๆ กั้น ภายในนิวเคลียสจะมีกรดนิวคลิอิก 2 ชนิดที่ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดระหัสทางพันธุกรรม คือ deoxyribonucleic acid (DNA หรือดีเอ็นเอ) และ ribonucleic acid (RNA หรืออาร์เอ็นเอ) ส่วนไซโตปลาสซึ่มนั้นประกอบด้วยสารหลายชนิดที่มีรูปร่างโครงสร้างเฉพาะแตกต่างกัน แต่จะมีสารเพียงบางตัว เช่น ribbosomes, RND, animo acids ที่มีความสำคัญในการทำหน้าที่ช่วยการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

โครโมโซม (chromosomes)

                โครโมโซมคือหน่วยของสารประเภทต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นยีนซึ่งอยู่ภายในนิวเคลียสของเซลล์  โดยทั่วไปแล้ว โครโมโซมของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป  แต่ถ้าเป็นชนิดหรือพันธุ์เดียวกันก็จะมีลักษณะเหมือนกัน   โครโมโซมของมนุษย์มีจำนวนทั้งสิ้น 46 ตัว หรือ 23 คู่ 

                โซมาติกเซลล์ของมนุษย์จะมีโครโมโซม 2 ประเภท คือ โครโมโซมจำนวน 22 คู่มีชื่อเรียกว่า  ออโตโซม  (autosomes)  ส่วนคู่ที่ 23  เรียกว่า  โครโมโซมทางเพศ   (sex chromosomes) ซึ่งคู่หลังนี้จะใช้อักษรย่อแทนว่า  XX  และ  XY  โดยในเพศหญิงจะมี  2X (XX)  ส่วนของเพศชายจะมี  1X และ  1Y (XY)