บทที่16  มานุษยวิทยาปฏิบัติการ  >> หน้า 12

 

                สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแต่เพียงแนวการดำเนินงาน น่าจะได้ทดลองกระทำเพื่อจะก่อให้เกิดผลสำเร็จในการดำเนินการขุดบ่อ การเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่นำมาเสนอในกรณีศึกษานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการศึกษาขนาดใหญ่ที่กำลังดำเนินอยู่ แต่ถ้าได้มีการส่งนักมานุษยวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญเข้าไปศึกษาล่วงหน้า เพื่อค้นหาตัวการสำคัญ ๆ ที่จะนำไปสู่ผลสำเร็จหรือความล้มเหลวของโครงการประเภทเดียวกันนี้ ตัวการสำคัญ ๆ ก็คงจะได้รับการค้นพบในระยะเวลาไม่นานนัก อย่างมากก็เดือนเดียว ถ้าหากว่ามีการดำเนินการศึกษาหาสาเหตุดังกล่าวและข้อแนะนำทางสังคมศาสตร์ได้รับการนำไปพิจารณาในการวางโครงการ ก็มีทางที่จะเป็นไปได้ว่า ภายหลังที่ต้องได้รับความยากลำบากจากการทดน้ำมาเป็นเวลา 400 ปี หมู่บ้านวีรูก็คงจะมีแหล่งน้ำถาวรใช(้13)

 

2.   อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

                ศาสตราจารย์แชมเบอร์ แห่งภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานสมาคมมานุษยวิทยาประยุกต์ได้รับเชิญให้มาแนะนำการสร้างหลักสูตรวิชาการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแก่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม พ.ศ.2534 เขาได้ใช้ความรู้สาขามานุษยวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการทางสังคมวัฒนธรรมในการสร้างปรัชญา เนื้อหา และวิธีการในการสร้างบุคลากรและแหล่งท่องเที่ยวในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย บุคลากรที่ต้องเรียนรู้และเข้าใจเรื่องสังคมวัฒนธรรมอย่างจริงจังได้แก่ พนักงานต้อนรับตามสถานบริการต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐในองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว เจ้าของ-ผู้จัดการ-พนักงานของโรงแรม บริษัทนำเที่ยว มัคคุเทศ เจ้าของและพนักงานขายของที่ระลึก รวมทั้งประชาชนทั่วไปเพื่อจะได้ร่วมกันวางแผนและดำเนินงานกิจการอุตสาหกรรมทางด้านนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้เขายังได้เสนอแนะการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม และชุมชนชนบทเพื่อใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ นอกเหนือจากทัศนียภาพและแหล่งท่องเที่ยวหลักเดิม ๆ ของเมืองไทย(14)