บทที่14   ศิลปะและภาษา   >> หน้า 7

 

                การสร้างศิลปะให้เป็นสัญลักษณ์ (symbol) ของความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งนี้มีความสำคัญยิ่งในทางมานุษยวิทยา ดังเช่น พระพุทธรูปหมายถึงแหล่งรวมความเชื่อ ความอบอุ่นใจในศาสนา มิได้หมายถึงอิฐหรือปูนที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเท่านั้น ส่วนการบัญญัติศัพท์พิเศษที่ให้กับกษัตริย์มักหมายถึงความสูงต่ำทางสถานภาพและความศักดิ์สิทธิ์ของคำ ๆ นั้น ดังนั้น นักมานุษยวิทยาจึงพยายามศึกษา  "สัญลักษณ์"  นี้อย่างกว้างขวาง เพราะเป็นเครื่องหมายรวมของความคิดความเชื่อของคนในกลุ่ม ทั้งนี้บางครั้งเราอาจจะสังเกตเห็นว่า การที่คนพากันกระทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง มิได้หมายความว่าเขาตั้งใจเพื่อให้ได้รับผลตรงตามกิจกรรมนั้น ๆ แต่ความตั้งใจจริงของเขานั้นอาจหมายถึงความมุ่งหวังในอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งมีความแตกต่างหรือตรงกันข้ามกับสิ่งที่มองเห็นก็ได้

                ด้วยเหตุนี้ ศิลปะจึงเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่คนในสังคมมักจะใช้แทนค่าความเชื่อและค่านิยมที่อยู่ในสังคม ซึ่งผู้ศึกษาต้องพยายามศึกษาหารายละเอียดถึงลักษณะดังกล่าว

 

ภาษา : สัญลักษณ์ที่ใช้สื่อความหมาย

                ธรรมชาติและหน้าที่ของภาษามีลักษณะดังคำจำกัดความที่ว่า "ภาษาคือสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างมีระบบโดยสมาชิกของคนในสังคม เพื่อใช้ในการสื่อความหมายต่อกัน ภาษาก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และทำให้การดำเนินชีวิตในสังคมบรรลุผล นอกจากนี้ ภาษายังมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยด้วย"(3)

                จะเห็นได้ว่า สัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นจะต้องมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน หรืออาจกล่าวได้ว่าจะต้องเป็นสัญลักษณ์ที่มีระบบ มีความหมายสืบเนื่องต่อกันไปทุกวรรคตอน ความหมายดังกล่าวจะต้องเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้   และเป็นเรื่องทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น หรือใช้แทนความหมายของกิจกรรมทางวัฒนธรรมทุกประเภทในสังคมนั้น