บทที่10  การแลกเปลี่ยนและเงินตร   >> หน้า 12

                 เบี้ยทั้ง 8 ชนิดมีค่าเท่ากันหมด ในปี พ.ศ.1078 เบี้ยมีค่าในอัตรา 200 เบี้ยต่อ 1 เฟื้อง   และตั้งแต่สร้างกรุงศรีอยุธยามาจนเสียกรุง ระหว่างปี พ.ศ. 1893 - 2310 ค่าของเบี้ยตามกฎหมายเป็น 800 เบี้ยต่อ 1 เฟื้อง ต่อมาเราเลิกใช้เบี้ยเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนแทนเงินตราเมื่อปี พ.ศ. 2345....

                ส่วนนักมานุษยวิทยาชื่อ L. Pospisil ได้ไปศึกษาภาวะเศรษฐกิจของชาวปาปวนคาเปาเกอร์ (Kupauker Papuan) ในเกาะนิวกีนีและยืนยันว่า สังคมแห่งนี้มีการใช้เงินตราสำหรับแทนค่าสิ่งของต่าง ๆ จริง เขาได้กล่าวไว้ในตอนหนึ่งว่า ....เศรษฐกิจของพวกคาเปาเกอร์นั้นมีลักษณะแห่งการใช้เงินตราจริง ๆ เนื่องจากพวกเขาใช้เปลือกหอยคาวรี (cowrie) และสร้อยคอที่ชื่อว่า dedege และ pagadan เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน สิ่งของดังกล่าวนี้ได้ใช้แทนค่าของสิ่งของทั่วไปและใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายของทุกชนิดที่อยู่บนเกาะนี้  ชาวคาเปาเกอร์เน้นความสำคัญของความมั่งคั่ง เงินตราและการค้าขาย ฉะนั้นจึงถือได้ว่าพวกนี้มีลักษณะเป็นปัจเจกชนนิยมดังเช่นคนในสังคมเมือง....

                จะเห็นได้ว่า สิ่งของหรือวัตถุที่ใช้แทนเงินตรานั้น บางอย่างอาจมีค่ามาก เช่น เงิน หรือทองคำ ส่วนสิ่งของบางอย่างมีค่าน้อย เช่น ลูกหิน หรือ กระดาษ แต่เมื่อนำเอาสิ่งของหรือวัตถุนั้นมาใช้เป็นเงินตราแล้ว คุณค่าทางสัญลักษณ์ของวัตถุสิ่งนั้นจะเป็นไปตามราคาที่คนในสังคมแต่ละแห่งนั้นกำหนดขึ้น เช่น 1 บาทเท่ากับ 100 สตางค์ และ 1 ดอลล่าห์เท่ากับ 100 เซนต์ หรือ 200 เบี้ยเท่ากับ 1 เฟื้อง เป็นต้น

3.เงินตราที่ใช้ในสังคมดั้งเดิมกับสังคมปัจจุบัน

                ศาสตราจารย์แมรี่ ดักลาส กล่าวว่า ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเปรียบเทียบ "การใช้" เงินตราระหว่างคนในสังคมดั้งเดิมกับสังคมปัจจุบัน เพราะในสังคมดั้งเดิมนั้นคนใช้เงินตราเพื่อเป็นเพียงสื่อกลางในการใช้จ่ายเชิงพิธีกรรมเท่านั้น (ยกเว้นบางสังคม เช่น พวกปาปวนคาเปาเกอร์ ที่ผู้วิจัยยืนยันว่าหน้าที่ประโยชน์ของเงินตราเป็นอย่างอื่น) ทั้งนี้ลักษณะของสังคมดังกล่าวก่อให้เกิดสภาพของระบบเศรษฐกิจที่ใช้การแลกเปลี่ยนอันกอร์ปไปด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นพื้นฐานหลัก และสังคมก็มีแนวโน้มที่จะแยกตัวเองเป็นอิสระและอยู่อย่างโดดเดี่ยว ส่วนสังคมปัจจุบันนั้น การใช้เงินตราไม่ได้เป็นเรื่องของการแบ่งปันสินทรัพย์และสิ่งของภายในสังคมเท่านั้น แต่รวมไปถึงการใช้เงินเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างสังคมและระหว่างประเทศด้วยภายใต้ข้อกำหนดตามกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องการกำหนดมาตรฐานของค่าของเงินและการควบคุมเงินตราประการอื่น ๆ อีกมากมาย